นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนพ.ค.64 (TCC-CI) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 366 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค.64 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 24.7 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27.6 อีกทั้งดัชนี TCC-CI ยังลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือน มิ.ย.62
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 24.8 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 27.9, ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 25.5 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 28.3, ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 28.8 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 31.6, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 24.3 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 27.1, ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 23.9 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 26.9 และภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 21.9 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่ 24.7
ปัจจัยลบที่มีผลให้ดัชนีฯ ลดลงในทุกภูมิภาค คือ ความวิกตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต, ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, การสั่งปิดกิจการในหลายประเภท
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 หดตัว -2.6% และปรับลดประมาณการทั้งปีลงเหลือ 1.5-2.5% เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19, ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องและปิดกิจการ ส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น, เงินบาทปรับแข็งค่าเล็กน้อย, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการภาครัฐเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนปัจจัยบวก เช่น แผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการปรับพื้นที่เพื่อผ่อนคลายมาตรการ ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%, ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโครงการ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “เราชนะ” และ “เรารักกัน” เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศ, การส่งออกของไทยเดือน เม.ย.64 ขยายตัว 13.09% และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มมีรายได้สูงขึ้น และกำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้มีนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้
- สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ และทำให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
- เร่งหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ขับเคลื่อนภาคการส่งออก เพื่อเพิ่มระดับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้กลับมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการปลดแรงงานลงในบางอุตสาหกรรม
- มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศให้กลับมามีรายได้ทันที เมื่อประชาชนได้รับวัคีนและมีภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- การใช้มาตรการที่เข้าถึงภาคธุรกิจ โดยรับเม็ดเงินหมุนเวียนโดยตรงมากขึ้น เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการคนละครึ่ง เป็นต้น
“ในปัจจุบันสมาชิกหอการค้าฯ มองว่าสถานการณ์ยังแย่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ทำให้การค้า และการจ้างงานได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่มองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ที่เริ่มเปิดเมือง และการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา การใช้จ่ายน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่คงยังไม่ได้กลับมาเท่ากับระดับปกติ”
นายธนวรรธน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: GDP, กนง., การจ้างงาน, การท่องเที่ยว, การสำรวจความคิดเห็น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย, ธนวรรธน์ พลวิชัย, ภาคธุรกิจ, ภาคเอกชน, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, สศช., หอการค้า, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย