ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.อยู่ที่ 44.7 จากเดือน เม.ย.64 ซึ่งอยู่ที่ 46.0 โดยดัชนีลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 38.9 จาก 40.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 41.3 จาก 42.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.9 จาก 54.7
ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตต่อประชาชนและภาคธุรกิจ, การกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่แน่อน, สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ไตรมาส 1/64 ติดลบ 2.6% และปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 64 เหลือโต 1.5-2.5%, ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ, กังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ไม่สอคล้องค่าครองชีพ, เงินบาทแข็งค่า
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ, การฉีดวัคซีนในประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%, การส่งออกเดือนเม.ย. ขยายตัว 13%, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนต.ค.41 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบที่ 3
ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ “เราชนะ” และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เห็นสัญญาณการซื้อสินค้า การท่องเที่ยวที่มีการชะงัก การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซึ่งการระบาดของโควิดส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค การล็อกดาวน์บางธุรกิจ มีผลต่อภาพรวมการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”
นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมคาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคน่าจะเริ่มปรับตัวขึ้นในเดือนมิ.ย. หลังจากที่เริ่มมีปฏิบัติการปูพรมฉีดวัคซีนต้านโควิดกันทั่วประเทศในเดือนนี้ แม้ปริมาณวัคซีนอาจจะมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แต่การฉีดวัคซีนก็ดำเนินการเป็นวงกว้าง และมีแผนการฉีดวัคซีนที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่กำลังจะมีวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาในประเทศมากขึ้น เพิ่มเติมจากวัคซีนยี่ห้อหลักที่ใช้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะกลาง คือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งผู้บริโภคมีความกังวลว่าสถานการณ์จะไม่นิ่ง การอภิปรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้
“สถานการณ์ตอนนี้ คนมีความกังวลเงินในกระเป๋า และได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด แต่หากการเมืองยังมีเสถียรภาพ ก็คาดว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะเริ่มดีขึ้นได้หลังจากนี้”
นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมระบุว่า หากการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศทำได้มากขึ้นในเดือนมิ.ย., ก.ค.นี้ ประกอบกับรัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3 นี้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวมถึงการดำเนินการตามแผน Phuket Sandbox, และการส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 2% เป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย คาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 7% และหากสามารถรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ราว 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกที่จะเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ไวขึ้น เพราะมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้น 6-8 แสนล้านบาท
นายธนวรรธน์ ยังมองว่า การแพร่ระบาดของโควิดในคลัสเตอร์โรงงานต่างๆ ในประเทศ จะไม่ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกในปีนี้ เพราะการแพร่ระบาดในโรงงานยังมีส่วนน้อย ซึ่งแต่ละโรงงานมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น แต่ปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก น่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งคาดว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อไปถึงปลายไตรมาส 3 หรือต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 รวมถึงปัญหาการปรับขึ้นค่าระวางเรือ แต่อย่างไรก็ดี มองว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่น, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย