แพทย์เผยผลศึกษายันแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ป้องกันติดเชื้อโควิดจริงไม่ใช่แค่ป้องกันป่วย

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่าผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศที่รายงานโดย real world data ขนาดใหญ่จากอังกฤษ พบว่าวัคซีนของ AstraZeneca และ Pfizer มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริง ไม่ใช่แค่ป้องกันอาการป่วย

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ในการทดลอง Phase 3 trial ของวัคซีนแทบทุกชนิดถูกออกแบบมาให้ตอบคำถามหลัก 1 ข้อเหมือนกันหมดคือ วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วย หรือติดเชื้อแบบมีอาการ (symptomatic infection) ของไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้ได้รับคำตอบไปแล้วจากข้อมูล phase 3 trials ของวัคซีนทุกชนิด แต่คำถามที่เราอยากรู้มากที่สุดจริง ๆ คือ วัคซีนป้องกันไม่ให้เราติดเชื้อได้หรือไม่ต่างหาก เพราะถ้าไม่ติดเชื้อก็จะไม่ป่วย ไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต และไม่แพร่เชื้อโควิดให้ผู้อื่น

สาเหตุที่ phase 3 trial ตอบคำถามได้เฉพาะเรื่องป้องกันการป่วยที่มีอาการ แต่ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องป้องกันการติดเชื้อทั้งมีอาการและไม่มีอาการ เพราะการออกแบบการศึกษาให้วัดผลเมื่ออาสาสมัครมีอาการเท่านั้น หมายถึงต้องมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น ไข้, อาการทางเดินหายใจ, หอบเหนื่อย, ฝ้าในปอด, จมูกไม่ได้กลิ่นลิ้นไม่รับรส และตรวจพบเชื้อจาก PCR แต่ไม่ได้ตรวจผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ทำให้หลายคนด่วนสรุปไปว่าวัคซีนโควิดฉีดเพื่อกันป่วย แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้

ทั้งนี้ การจะตอบคำถามเรื่องการป้องกันการติดเชื้อได้นั้นจะต้องมีการตรวจหาเชื้อกับอาสาสมัครเป็นระยะ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งวิธีการศึกษาแบบนี้ทำยากมาก เพราะจะต้องปูพรมตรวจอาสาสมัครจำนวนมาก ตรวจเป็นระยะไปเรื่อย ๆ ใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง และคงไม่ค่อยมีอาสาสมัครยอมให้ตรวจเชื้อเป็นระยะได้ง่าย ๆ การเลือกศึกษาแบบนั้นคงไม่ทันการผลักดันให้วัคซีนออกมาใช้โดยเร็ว

ที่มา: เว็บไซต์ Nature.com

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการเก็บ real world data ที่ดี และมีขนาดใหญ่จึงมีความสำคัญมากในการตอบคำถามนี้ งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน Nature Medicine วันนี้ ทีมนักวิจัยทำการรวบรวมข้อมูลของ Office of National Statistics ทำการสุ่มตัวอย่างประชากรในครอบครัวทั่วอังกฤษ โดยติดตามข้อมูลการฉีดวัคซีนทั้ง Pfizer และ AstraZeneca (AZ) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR เป็นระยะตามตารางเวลา ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูล

ทีมนักวิจัยได้ข้อมูลประชากรราว 383,000 คน ซึ่งมีการทำ RT-PCR ตรวจหาเชื้อเกือบ 2 ล้านครั้ง และในช่วงที่ฉีดวัคซีนก็มีการระบาดของ Alpha variant อย่างหนักพอดี พบว่าคนที่ฉีดวัคซีน 1 เข็มไปอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ถึง 61% ถึง 66% (สำหรับ AZ และ Pfizer ตามลำดับ) และถ้าฉีดครบ 2 เข็มจะป้องกันได้ถึง 79% ถึง 80% (สำหรับ AZ และ Pfizer ตามลำดับ) และเมื่อดูใน subgroup จะพบว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อแบบจำนวนเชื้อมาก (Ct<30) สูงขึ้นไปถึง 91%

จึงไม่น่าแปลกใจว่า การที่ UK ปูพรมวัคซีนทั้งสองชนิดเป็นวงกว้าง นอกจากจะลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากประชาชนได้รับวัคซีนไประยะหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากจะช่วยให้ผู้ได้รับวัคซีนไม่ป่วย ไม่ป่วยหนัก ลดภาระระบบโรงพยาบาลลงแล้ว ยังช่วยตัดตอนการระบาดได้เร็ว ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และทำให้หนทางสู่ herd immunity เป็นไปได้ง่ายขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top