CONSENSUS: โบรกฯเชียร์ ซื้อ EPG เล็งกำไรปี 64/65 ทำนิวไฮรับแรงหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เล็งกำไรสุทธิงวดปี 64/65 (ปิดงบ มี.ค.) จะทำสถิติสูงสุดใหม่ รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศคลี่คลาย ส่งผลให้เกิด Re-stock ซึ่งประเมินวัฏจักรการ Re-stock ทั่วโลกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไปถึงจุดสูดสุดที่ช่วงกลางปี 65

พร้อมคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 งวดปี 64/65 (เม.ย.-มิ.ย.64) หลังจากบริษัทปรับขึ้นราคาขายชดเชยการทำโปรโมชั่นส่วนลดทางการตลาดจากการรุกตลาดฉนวนยางสำหรับธุรกิจตู้แช่เย็นในประเทศสหรัฐ รวมไปถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า ทำให้ค่าต้นทุนค่าระวางเรือสูงขึ้น และต้นทุนเม็ดพลาสติกที่เพิ่มขึ้นแล้ว

หุ้น EPG ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 11.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+0.88%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าพุ่ง 10.52 จุด

โบรกเกอร์คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ15.50
คันทรี่ กรุ๊ปซื้อ15.00
เคทีบีเอสทีซื้อ15.00
ฟิลลิป(ประเทศไทย) ซื้อ14.40
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ซื้อ13.50

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า พื้นฐานของบริษัทกลับมาเติบโตจากธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ (Aeroklas) ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งยานยนต์ หลังอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกลับมาฟื้นตัว รวมไปถึงจะมีคำสั่งซื้อใหม่จากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเติม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับค่ายรถยนต์ด้วย

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจฉนวนความร้อน/เย็น (Aeroflex) ได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดสหรัฐที่มีการเติบโตมาก ตามภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้มีการลงทุนก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้าที่ผลิตในกลุ่มตู้ทำความเย็น และมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยอดขายในไทยและญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค (EPP) กลับมาฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการบริโภคในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น และความนิยม Food Delivery ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเติบโตขึ้น ทดแทนบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มที่ชะลอตัวจากการผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ในช่วงต้นปี 65 จะมีการยกเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร จะทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ของบริษัทเพิ่มขึ้น

“แม้ว่าทิศทางพื้นฐานของบริษัทจะกลับมาฟื้นตัวตามอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กลับมาฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง แต่อย่างไรก็ตามต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตของบริษัทจะปรับขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันที่ทยอยปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอาจจะมากระทบกับการทำกำไรของบริษัทได้ จึงต้องติดตามดูในส่วนนี้ด้วย”

นายมงคล กล่าว

ด้านบล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินทิศทางกำไรสุทธิของ EPG ในงวดปี 64/65 (ปิดงบ มี.ค.) จะเติบโตราว +23% YoY เป็น 1.5 พันลันบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะเติมสินค้า (Re-stock) ซึ่ง บล.เคจีไอ (ไต้หวัน) ประเมินวัฏจักรการ Re-stock ทั่วโลกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไปถึงจุดสูดสุดที่ช่วงกลางปี 65

โดยในส่วนของกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ Aeroklas ของ EPG จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่อง Semiconductor ที่ขาดแคลนในขณะนี้ เนื่องจากฐานลูกค้าหลักเป็นรถประเภทกระบะ นอกจากนี้ธุรกิจขายสินค้าประดับยนต์ (TJM) คาดจะยังมีดีมานด์ต่อเนื่องหลังจากทำการปรับระบบการบริหารจัดการภายในแล้ว ทำให้ผลการดำเนินงานเริ่มกลับมาเติบโตในปีที่ผ่านมา และจะมี Upside จากการรุกธุรกิจร้านประดับยนต์ของ TJM ในประเทศอื่นๆนอกจากประเทศออสเตรเลียด้วย

ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (EPP) แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้การบริโภคในภาพรวมชะลอตัวลง แต่ EPP กลับได้รับอานิสงส์จากธุรกิจประเภท Food delivery ที่เติบโตขึ้นมาในช่วง Work from home และในขณะเดียวกันโรงงานผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวให้ผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้ มีการปิดตัวลงหรือชะลอการผลิต ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ EPP ในไทยกลับเพิ่มขึ้นแทนด้วย

ทั้งนี้ คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 งวดปี 64/65 (เม.ย.-มิ.ย.64) หลังจากที่บริษัทได้มีการปรับราคาขึ้นชดเชย การทำโปรโมชั่นส่วนลดทางการตลาดจากการรุกตลาดฉนวนยางสำหรับธุรกิจตู้แช่เย็นในประเทศสหรัฐ รวมไปถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่ง ทำให้ค่าต้นทุนค่าระวางเรือสูงขึ้น และต้นทุนเม็ดพลาสติกที่เพิ่มขึ้น แล้ว

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แม้ว่าผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 งวดปี 63/64 (1 ม.ค.-31 มี.ค.64) มีกำไรชะลอตัวและต่ำกว่าคาดจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทยอยปรับราคาขึ้น ชดเชยต้นทุนปิโตรเคมีที่ปรับขึ้นแล้ว

โดยการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวาน (1 มิ.ย.) ผู้บริหารยังมีมุมมองในด้านบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการงวดปี 64/65 โดยทั้งสามธุรกิจมีแนวโน้มจะเติบโต คือ Aeroflex ตั้งเป้าจะเติบโต 10-12% และมีอัตรากำไรขั้นต้น 41-43% ใกล้เคียงปีก่อน ได้แรงบวกจากตลาดสหรัฐฯซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 40% ซึ่งบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเท่าตัว รองรับงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมา

Aeroklas ตั้งเป้าจะเติบโต 20-23% มีอัตรากำไรขั้นต้น 30-33% ใกล้เคียงปีก่อน โดยได้แรงบวกจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในและต่างประเทศฟื้นตัว ขณะที่ TJM จะมีการเติบโตสูง และ EPP ตั้งเป้าหมายจะเติบโต 5-8% และ มีอัตรากำไรขั้นต้น 19-21% ดีขึ้นจากปีก่อน 18.6% ได้แรงหนุนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มมีการเติบโตดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top