นส.พ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรณีเกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน กับโค-กระบือในหลายพื้นที่ของประเทศ กรมปศุสัตว์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของโค-กระบือจึงได้เตรียมการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน ดังนี้
กรณีที่เป็นการชดเชยเนื่องจากสัตว์ตายหรือป่วยตาย โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 และมีขั้นตอน คือ
- รวบรวมข้อมูลความเสียหาย
- รวบรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ปศุสัตว์อำเภอ)
- รวมรวมข้อมูลเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ปศุสัตว์จังหวัด)
- ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ปศุสัตว์จังหวัด หรือกรมปศุสัตว์
โดยจะมีการชดเชยตามจริง แต่ไม่เกินรายละ 2 ตัว เป็นเงินสดผ่านบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- 1) อายุน้อยกว่า 6 เดือน : โค 6,000 บาท กระบือ 8,000 บาท
- 2) อายุ 6 เดือน ถึง 1 ปี : โค 12,000 บาท กระบือ 14,000 บาท
- 3) อายุมากกว่า 1 ปี ถึง 2 ปี : โค 16,000 บาท กระบือ 8,000 บาท
- 4) อายุมากกว่า 2 ปี : โค 20,000 บาท กระบือ 22,000 บาท
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปีสกิน พร้อมกับเร่งพัฒนาวัคซีนลัมปีสกินจากพืชด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า plant based vaccine โดยร่วมมือกับบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนได้ภายใน 2 เดือน และหากได้ผลดีจะให้โรงงานวัคซีนของกรมปศุสัตว์ผลิตวัคซีนดังกล่าวทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการผลิตวัคซีนสัตว์จากพืช
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มิ.ย. 64)
Tags: กรมปศุสัตว์, กระทรวงการคลัง, กระบือ, ประภัตร โพธสุธน, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สรวิศ ธานีโต, อลงกรณ์ พลบุตร, เกษตรกร, เฉลิมชัย ศรีอ่อน, เยียวยา, โค, โรคลัมปี สกิน, ใบยาไฟโตฟาร์ม