นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.64 อยู่ที่ระดับ 82.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.3 ในเดือนเม.ย.64 และต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ค.63 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังไม่คลี่คลายและยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต
ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า และภาครัฐมีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอตัวและอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า ผู้ประกอบการยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมันรวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินและขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนที่มีความรุนแรงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.64 ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.63 ขณะที่การกระจายวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้า
“ผลสะท้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอสเอ็มอี” นายสุพันธุ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กำลังเร่งรัดให้ภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงวัคซีน เพราะหากเกิดการระบาดในโรงงาน จะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการต้องปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งขณะนี้มีทั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 16 แห่ง
สำหรับการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประสาน ทั้งนี้ ส.อ.ท.จะพยายามให้ได้ปริมาณตามที่สมาชิกต้องการมากที่สุด ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในสัปดาห์นี้ โดยในวันที่ 11 มิ.ย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และ ส.อ.ท. จะร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
ในด้านการส่งออก ยังมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ
ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมราว 4 แสนคนนั้น เนื่องจากแรงงานในประเทศไม่ให้ความสนใจ จึงอยากให้มีการทำ MOU กับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน และเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย และเริ่มทยอยเปิดเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี และความคืบหน้าในการกระจายวัดซีนให้กับประชาชน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้การส่งออกของไทยได้รับอานิสงค์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 92.8 จากระดับ 91.8 ในเดือนเม.ย.64 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้คลี่คลายลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการส่งออกจะช่วยสนับสนุนให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น
ประธาน ส.อ.ท. ได้มีข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ ดังนี้
- เร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเร่งกระจายวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็วที่สุด
- ออกมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ
- ออกมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 30% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
- เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ ภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานโดยเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานด้านแรงงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 64)
Tags: SMEs, การส่งออก, ชิปอิเล็กทรอนิกส์, ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม, ตู้คอนเทนเนอร์, ผู้ประกอบการ, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สุพันธุ์ มงคลสุธี, อัตราค่าระวางเรือ, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า