สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.64 อยู่ที่ 99.55 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.44% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลของการสูงขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 0.83%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนพ.ค.64 อยู่ที่ 100.45 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.49% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.23%
พร้อมกันนี้ สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 2.3%
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.64 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิด แต่มีมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของภาครัฐ เป็นปัจจัยทอนที่ชะลอมิให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงเกินไป สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
สำหรับ CPI ในเดือน พ.ค.สูงขึ้น 2.44% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงจาก 3.41% ในเดือน เม.ย.64 ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาพลังงานที่ขยายตัวสูงถึง 24.79% ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร สัตว์น้ำ (อาหารทะเล) และผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาของรัฐ และการลดลงของราคาอาหารสดบางชนิด เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ และผักสด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ชะลอไม่ให้เงินเฟ้อสูงเร็วเกินไป โดยในส่วนของสินค้าผักสดนั้น สาเหตุที่ราคาลดลงมากในเดือน พ.ค.นี้ เป็นผลจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดตลาดสดหลายพื้นที่ สินค้าจึงมีสต็อกสูง ประกอบกับอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้สินค้าเน่าเสียง่าย ขณะที่สินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน
รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวในเดือนพ.ค.นี้ นอกจากจะมีปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารสดบางชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยด้านอุปทานแล้ว ยังมีปัจจัยด้านอุปสงค์ที่มีสัญญาณแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เกิดการบริโภค อาทิ การปรับตัวสูงขึ้นของการส่งออก ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกร
รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่สนับสนุนให้เกิดการบริโภคเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ การขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลัง การผลิตในหลายสาขาการผลิต สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน รวมทั้งราคาเหล็ก ยางพารา และคอนกรีต เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตและราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือนพ.ค.64 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เม.ย.64) พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 121 รายการ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง, ไข่ไก่, ข้าวสารเจ้า, เงาะ, มังคุด, ทุเรียน เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการที่ราคาลดลง มี 112 รายการ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ผักคะน้า, พริกสด, แตงกวา และข้าวสารเหนียว เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 197 รายการ
นายวิชานัน คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/64 จะอยู่ที่ 2.3% จากนั้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มเป็นบวก แต่จะค่อยๆ ลดลงจากผลของราคาพลังงาน และฐานที่ต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ดี หากภาครัฐยังมีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพแก่ประชาชนในเรื่องค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปา ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้
“เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.น่าจะยังเป็นบวก แต่คงไม่สูงเท่ากับเดือนพ.ค.นี้ คาดไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2.3% จากนั้นไตรมาส 3 ไตรมาส 4 จะค่อยๆ ลดลง แต่ยังเป็นบวกอยู่…อัตราเงินเฟ้อปีนี้ ได้รับอิทธิพลสูงมากจากราคาพลังงงาน แต่มีอาหารสด เป็นตัวเหวี่ยง แต่ก็ไม่มากนัก ส่วนมาตรการภาครัฐจะเป็นตัวที่ทำให้เงินเฟ้อไม่วิ่งไปตามทิศทางราคาพลังงานมากนัก”
นายวิชานัน กล่าว
พร้อมระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของไทย ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อของโลก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่ละประเทศจะออกมาตรการช่วยเหลืออย่างไร
“อัตราเงินเฟ้อของไทยยังวิ่งไปในทิศทางที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อโลก…เงินเฟ้อของเราไม่ได้สูงเกินไป มีหลายประเทศสูงมากกว่าไทย ดังนั้นเงินเฟ้อของไทยไม่ได้สูงขึ้นอย่างผิดปกติ แต่เป็นการเพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานเป็นหลัก”
นายวิชานันกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 64)
Tags: CPI, กระทรวงพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป, วิชานัน นิวาตจินดา, สนค., อัตราเงินเฟ้อ, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย