- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 165,462 คน (+3,440)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,175 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 1,163 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 15 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 1,087 ราย
- รักษาหายแล้ว 114,578 คน (+2,843)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 49,777 คน (+559)
- เสียชีวิตสะสม 1,107 คน (+38)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,440 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,175 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,163 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,087 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย มาจากคูเวต จีน โปรตุเกส อเมริกา มาเลเซีย ประเทศละ 1 ราย จาก อินเดีย ญี่ปุ่น ประเทศละ 2 ราย และจากกัมพูชา เมียนมา ประเทศละ 3 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 38 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 14 ราย อายุเฉลี่ย 10 เดือน- 95 ปี เป็นคนกรุงเทพมหานคร 18 ราย สมุทรปราการ 4 ราย ชลบุรีและปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย ฉะเชิงเทรา นนทบุรี สุราษฏร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย และอยุธยา ร้อยเอ็ด ราชบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคปอด มะเร็ง โรคหัวใจ และมีปัจจัยเสี่ยงจากสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว เดินทางไปในพื้นที่ระบาด อาชีพเสี่ยง ไปสถานที่คนหนาแน่น
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 165,462 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 114,578 ราย เพิ่มขึ้น 2,843 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 1,107 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ยังคงมีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยวันนี้พบ 211 คน มาจากเมียนมา 79 คน , ลาว 30 คน , กัมพูชา 59 คน ส่วนมาเลเซีย วันนี้ยังไม่พบผู้ที่ลักลอบเข้ามา โดยผู้ที่ลักลอบเข้ามาจากชายแดนไทย-เมียนมา ส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีทั้งนักเรียน นักพนันอนนไลน์ แม่บ้าน และอาชีพรับจ้าง นอกจากนี้ยังพบคนจีนพยายามลักลอบผ่านด่านแม่สอด 2 คน
สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดระลอกใหม่นี้ ณ วันที่ 2 มิ.ย.64 อันดับแรก ยังคงเป็น กรุงเทพมหานคร พบ 680 ราย สมุทรปราการ 116 ราย เพชรบุรี 449 ราย ตรัง 176 ราย สมุทรสาคร 78 ราย นนทบุรี 62 ราย ปทุมธานี 39 ราย นราธิวาส 34 ราย อยุธยา 33 ราย ชลบุรี 29 ราย
ในส่วนกทม. มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 48 แห่ง โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เขตลาดพร้าว พบผู้ติดเชื้อ 23 ราย ซึ่งกทม.มีแผนที่จะลงตรวจในเขตลาดพร้าวด้วย ซึ่งขณะนี้กทม.พบผู้ติดเชื้อแล้วรวม 48 คลัสเตอร์
- สมุทรปราการยังพบที่ตลาดสำโรง พบผู้ติดเชื้อใหม่ 148 ราย โรงงานผลิตจำหน่ายซอส 36 ราย โรงน้ำแข็งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ 74 ราย ที่ตลาดและเคหะบางพลี 16 ราย
- เพชรบุรี พบในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการแพร่กระจายไป 11 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 438 ราย
- ตรัง พบการแพร่ระบาดที่โรงงานผลิตถุงมือ และพบการระบาดต่อเนื่องไปยังชุมชน ทั้งอ.เมือง อ.กันตัง อ.ย่านตาขาว
- สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ ที่โรงงานผลิตสินค้าเด็ก กระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 42 ราย
- นราธิวาส ในพื้นที่ตากใบ พบผู้ติดเชื้อ 28 ราย อยุธยา พบคลัสเตอร์ใหม่ บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือการแพร่ระบาดภายในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีพนักงานจำนวนมาก แบ่งเป็นแรงงานชาวไทยกว่า 4,000 คนและชาวต่างชาติ กว่า 1,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชา ซึ่งการติดเชื้อมีทั้งในส่วนของพนักงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฝ่ายเตรียมการผลิตและในส่วนของออฟฟิศ โดยพบพนักงานชาวกัมพูชาติดเชื้อมากกว่าคนไทย 3.9 เท่า เนื่องจากมีการอาศัยร่วมกันในหอพักที่ค่อนข้างแออัด 1 ห้องอยู่รวมกัม 3 คน รวมถึงมีการรวมกลุ่มและใช้ส่วนกลางร่วมกัน ขณะที่กลุ่มแรงงานช่างพบว่า ติดเชื้อน้อยเพราะมีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ค่อนข้างดีและมีความระมัดระวังสูง
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีการสำรวจว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในโรงงาน ได้แก่ เรื่องของสถานที่แออัดการระบายอากาศไม่ดีพอ จุดสัมผัสร่วมกันไม่สะอาด โดยในโรงงานขนาดใหญ่พบมีการติดเชื้อมากถึง 20% โรงงานขนาดกลางและเล็กมีการติดเชื้อ 5%
ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงได้จัดทำแผนมาตรการป้องกันการควบคุมโรคภายในโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและลดความรุนแรงไม่ให้แพร่กระจายไปในชุมชนเป็นวงกว้าง เพื่อปกป้องเศรษฐกิจและสังคมให้สถานประกอบการปลอดภัยและดำเนินกิจการได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งโรงงานที่ได้ลงทะเบียนไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรมมีทั้งหมด 63,029 แห่งและช่วงที่ผ่านมากรมอนามัย ได้รณรงค์ให้โรงงานและตลาด ใช้เครื่องมือดำเนินการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล Good factory practice คือ Thai stop covid+(TSC) ในการทำแบบประเมินทางด้านป้องกันโรคด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ
ในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 2,800 โรงงานที่เข้าไปทำแบบประเมิน โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่เข้าไปทำแบบประเมินเพียง 650 โรงงาน ดังนั้นได้เน้นย้ำว่า ภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้โรงงานขนาดใหญ่ทุกโรงงาน จะต้องเข้าไปทำแบบประเมินให้ครบ 100% และขอให้ตอบตามความเป็นจริง และหากประเมินไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะมีทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือทำให้โรงงานเกิดความปลอดภัย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคทบทวนรายละเอียดมาตรการการจัดการของแคมป์คนงานในการควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในแคมป์ เพื่อให้สถานประกอบการและแคมป์คนงานเข้าใจตรงกันอย่างถูกต้อง เพราะขณะนี้มีหลายแคมป์ที่คิดว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องแล้วและเพียงพอแล้ว แต่ยังทำให้เกิดการแพร่ระบาด ดังนั้นกรมควบคุมโรคจะมีข้อปฏิบัติอย่างละเอียดให้แคมป์คนงาน และหากไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ฝ่ายความมั่นคงสนับสนุนการทำงานของ กทม.และกรมควบคุมโรค
ทั้งนี้ พญ.อภิสมัย ขอฝากไปยังเจ้าของสถานประกอบการและแคมป์คนงานว่า ภาครัฐไม่ต้องการใช้บทลงโทษ แต่ขอความร่วมมือเพื่อดูแลคนงานทุกคนให้เกิดความปลอดภัย และแม้มาตรการของรัฐจะมีความเข้มข้น แต่หากผู้ประกอบการและสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ประชาชนก็จะไม่ปลอดภัยเช่นกัน
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ล่าสุดจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.64 จัดสรรวัคซีนทั้งหมด 3,753,718 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 2,591,372 ราย ส่วนผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้ว 1,162,346 ราย
ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการรายงานว่า ในวันนี้มีการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไปอีก 2 แสนโดส และจัดส่งวัคซีนซิโนแวกอีก 7 แสนโดส จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันนี้
ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 171,927,802 ราย เสียชีวิต 3,575,545 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,136,738 ราย อันดับสอง อินเดีย 28,306,883 ราย อันดับสาม บราซิล 16,625,572 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,677,172 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,256,516 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 82
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19