นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 1 (NTP1) ให้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยระบุวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการเริ่มดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว ทางเอกชนร่วมสัญญายังมีข้อกังวลใจใน 2 ประเด็น คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อแผนการจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อนเริ่มการก่อสร้าง และการเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพประมงที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือก่อนเริ่มต้นงานก่อสร้าง
ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า เรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจเร่งด่วน คือเรื่องของมาตรการช่วยเหลือ ที่สามารถดำเนินการได้โดยผ่านมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพของประชาชนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่สามารถขับเคลื่อนได้ตามกลไกและรวดเร็ว ซึ่งในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ ผู้บริหาร กนอ.จะเข้าพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อประชุมหารือเรื่องแต่งตั้งคณะทำงานฯ และเมื่อได้คณะทำงานฯ แล้ว ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบ แนวทาง วางแผน วิเคราะห์ ประเมินผู้ได้รับผลกระทบ และชี้แจงรายละเอียดก่อนดำเนินการก่อสร้าง
ส่วนเรื่องที่สอง คือ การจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทาง กนอ.อยู่ระหว่างประสานกับทางจังหวัดระยอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางการจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ได้เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังพัฒนาเสร็จจะมีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลว ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย เป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย แลผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย โดยปัจจุบันมีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 64)
Tags: กนอ., กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ท่าเทียบเรือ, ท่าเรือมาบตาพุด, มาบตาพุด, วีริศ อัมระปาล