เงินบาทเปิด 31.16 ต่อดอลล์ อ่อนค่าจากวานนี้เล็กน้อย ตลาดยังรอปัจจัยใหม่-จับตาทิศทาง Flow

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เช้านี้เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.16 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.14 บาท/ดอลลาร์ โดยดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเยน ขณะที่ตลาดยังขาดปัจจัยใหม่เข้ามา

“บาทอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้เล็กน้อย ตลาดยังรอปัจจัยใหม่เข้ามา”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 31.10 – 31.25 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องจับตาดูคือ ทิศทางค่าเงินหยวน และกระแสเงินทุนต่างประเทศ

THAI BAHT FIX 3M (1 มิ.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.29470% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.32815%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 109.56 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 109.58 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.2221 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.2230 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.181 บาท/ดอลลาร์
  • รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 4 เดือนแรกของปี (ม.ค.-เม.ย.2564) การค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 16.78% ทำเงินเข้าประเทศ 295,381 ล้านบาท ส่วนการค้าผ่านแดนเพิ่มขึ้น 41.93% ทำเงินเข้าประเทศ 230,839 ล้านบาท รวมเป็น 26.74% ทำเงินเข้าประเทศ 526,220 ล้านบาท
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงาน การส่งออกข้าวในเดือน เม.ย.2564 พบว่า มีปริมาณ 327,037 ตัน มูลค่า 6,385 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 8.1% และ 2.0% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 302,668 ตัน มูลค่า 6,262 ล้านบาท
  • รมว.คลัง ชี้แจงในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่า ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ปีที่ผ่านมาและปีนี้จึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่คาดหวังและคาดการณ์ว่าปี 65 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้
  • ธนาคารกรุงไทย (KTB) ได้ออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ Krung thai SOLUX10F Luxury Index Linked Note หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง อายุ 5 ปีจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี Solac tive Luxury Dynamic Factors 10%Daily Risk Control Index (SOLUX10F) ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าและบริการระดับ Luxury ชั้นนำทั่วโลก อาทิHERMES, LVMH, FERRARI,PORSCHE, RICHEMONT, KERING,DIAGEO, MONCLER, BURBERRY,PANDORA, ESTEE LAUDER และLOR?AL เป็นต้น (อ้างอิงจากบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในดัชนี SOLUX10F ณ 30 เม.ย.64) เปิดขายในวงจำกัดให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ ชูจุดเด่นคุ้มครองเงินต้น 100% หากถือจนครบกำหนด ลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท
  • องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยแถลงการณ์ระบุว่า WHO ได้อนุมัติใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวก ไบโอเทคของจีนในกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งนับเป็นวัคซีนโควิดตัวที่ 2 ของจีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO ต่อจากวัคซีนโควิดของซิโนฟาร์ม
  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ที่ระดับ 60.7 ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตในเดือนพ.ค. ได้รับแรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดการผลิต และการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตสินค้าให้ทันความต้องการที่สูงขึ้น
  • ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 60.5 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI เดือนพ.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ค.2550 โดยได้แรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) หลังจากนักลงทุนซึมซับข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 มิ.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top