นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 10,569.8283 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย ดังนี้
– ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อ 6,353.1980 ล้านบาท สำหรับค่าบริการตรวจคัดกรอง ทั้งในรูปแบบ RT-PCR, Pooled RT-PCR, Pooled saliva , Antibody, Antigen ในการคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ รวมทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุก การตรวจก่อนทำหัตถการ การตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การตรวจใน Hospitel และการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพการตรวจสูงสุดที่ 50,000 รายต่อวัน
– ค่าบริการรักษาผู้ป่วย 3,417.30 ล้านบาท สำหรับผู้ป่วยคนไทยและผู้ป่วยใน State Quarantine รวมทั้งปรับเพิ่มสัดส่วนการเข้ารับการรักษาใน Hospitel และสัดส่วนการรับส่งต่อโรงพยาบาลกับ Hospitel และระหว่างบ้าน ด่านตรวจคนเข้าเมือง และสนามบินมาโรงพยาบาล
– ค่าบริการฉีดวัคซีน จำนวน 760 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็น 40 บาทต่อครั้ง จากเดิม 20 บาทต่อครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าวัคซีนทั่วไป รวมทั้งต้องใช้บุคลากรมากกว่าการฉีดวัคซีนอื่น
– ค่าบริการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ จำนวน 30.0133 ล้านบาท และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะ VITT จำนวน 9.28 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดบริการรักษาพยาบาลสำหรับประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างอิงอัตรารักษาตามมาตรฐานในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“โครงการที่ลงทุนให้บริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค จะช่วยลดภาระงบประมาณของประเทศในภาพรวมด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต้นทุนการบริการที่มากกว่า รวมถึงยังเป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย” นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, ประชุมครม., สปสช., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, อนุชา บูรพชัยศรี, แพ้วัคซีน, โควิด-19