นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า SCB EIC ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปี 64 เหลือขยายตัว 1.9% จากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 2% รับผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศ ซึ่งคาดว่าใช้เวลาราว 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค. 64) ในการควบคุมการระบาดส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะ face to face ลดลงมากจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และประชาชนเริ่มมีการระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อที่ค่อนข้างอ่อนแอ จากรายได้ของประชาชนที่ลดลง ทำให้การบริโภคในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นอีกปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยอย่างมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 64 ที่มีแนวโน้มลดต่ำกว่าคาดมาอยู่ที่ 400,000 คน จากเดิมที่คาดว่า 1.5 ล้านคน แม้ภาครัฐจะมีแผนเปิดประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังระมัดระวังในการเปิดให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศจากความกังวลต่อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้เป็นการซ้ำเติมแผลเป็นต่อธุรกิจและแรงงานโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากภาคารส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างดี จากการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ทั้งในสหรัฐฯและยุโรป หลังจากที่มีการเร่งฉีดวัคซีน ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเหล่านั้นเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กิจกรรมการค้าขายระหว่างประเทศกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาคการส่งออกได้รับอานิสงส์ และเติบโตขึ้นมากกว่าคาด ทำให้ SCB EIC ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปี 64 ขยายตัวสูงถึง 15% จากเดิมที่ 8.6% ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่พยุงเศรษฐกิจไทยให้ยังเป็นบวกได้ในปีนี้
แม้ว่าภาคการส่งออกจะฟื้นตัวได้อย่างดี แต่การลงทุนของภาคเอกชนยังไม่กลับมาฟื้นตัวขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคเอกชนยังคงมีการระมัดระวังการลงทุน และยังไม่มั่นใจทิศทางของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ เช่น การลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม และการลงทุนโรงแรม เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว และภาคการท่งอเที่ยวที่หายไป โดยที่มองว่ายังต้องใช้ระยะอีกพักใหญ่กว่าที่ภาคเอกชนจะมีความมั่นใจและเริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องอาจจะมีความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังคงต้องติดตามว่าจะมีการอัดฉีดเงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง โดยที่มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งจากวงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะใช้ครบทั้งหมดในช่วงที่เหลือของปีนี้ และวงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่ออกมาใหม่ คาดว่าจะมีการใช้เม็ดเงินบางส่วนราว 1 แสนล้านบาท เข้าช่วยพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้ โดยที่ทาง SCB EIC มองว่านอกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคแล้ว จะต้องมีการนำเม็ดเงินเข้าไปช่วยภาคเอสเอ็มอีในการเสริมศักยภาพและการจ้างงาน เพื่อช่วยเติมกำลังซื้อเข้าไปในระบบได้มากขึ้น
โดยที่กำลังซื้อที่ลดลงในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 จะทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. 64 ที่ 1.96% ได้อีก และการจ้างงานงานใหม่ที่ติดลบในช่วงการแพร่ระบาดระลอก 3 ทำให้รายได้ของครัวเรือนลดลง และภาคครัวเรือนยังถูกมีข้อจำกัดของการจับจ่ายใช้สอยจากภาวะหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งคาดว่าหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/64 จะเพิ่มขึ้นไปที่ 91% จากไตรมาส 4/63 ที่ 89.3% และมองว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 88-90% แต่ยังเป็นระดับที่สูงมาก ทำให้กำลังซื้อในประเทศมีข้อจำกัดอยู่มาก และเป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ค่อนข้างมาก
“ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเศรษฐกิจจะต้องรอถึงช่วงต้นปี 66 จึงจะกลับไปเท่ากับระดับ GDP ก่อนเกิดโควิด-19 รวมทั้งยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ทั้งระยะเวลาในการควบคุมการระบาดที่อาจนานขึ้น และความล่าช้าด้านการฉีดวัคซีน อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอและล่าช้าออกไปอีก ก็ต้องหวังการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่กับการผลักดันมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับ New Normal ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดขนาดของความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบถาวรของเศรษฐกิจไทยที่เกิดแผลเป็นลึก”
นายยรรยง กล่าว
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 64 ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตรดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ทั้งปีที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังตรึงในระดับนี้ไว้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันถือว่าการใช้นโยบายการเงินค่อนข้างเผชิญกับข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้ธปท.จะยังไม่มีแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่จะหันมาช่วยในการเข้าถึงสินเชื่อและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเป็นหลัก และคาดว่าการจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งอาจจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 แต่จะเป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องดูทิศทางของเศรษฐกิจไทยว่าจะเป็นอย่างไรในช่วงนั้นๆ และค่าเงินบาทในปี 64 ยังคาดว่าเป็นทิศทางการอ่อนค่าอยู่ที่ 31-32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 64)
Tags: GDP, SCB EIC, กนง., การท่องเที่ยว, จีดีพี, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธปท., ยรรยง ไทยเจริญ, อัตรดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย