นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยว่า บริษัทจึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส Mid/Small Cap อิควิตี้ (TUSMS) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Granahan US SMID Select FUND ชนิดหน่วยลงทุน A (Acc) – USD (กองทุนหลัก) มีนโยบายลงทุนหุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขนาดกลางและเล็ก (“SMID Cap”) ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และจัดตั้งในสหรัฐฯ หรือดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท เปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) 1-10 มิ.ย.64
ในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯสามารถบริหารจัดการกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังเดินหน้านโยบายการคลังอย่างต่อเนื่อง จนผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ด้วยปัจจัยบวกดังกล่าว จึงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ส่วนปัจจัยที่เข้ามารบกวนการลงทุน ในเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลนัก โดย บลจ.ทิสโก้ มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราว เพราะเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในระยะแรกของการเปิดเมือง ประกอบกับฐานการคำนวนเงินเฟ้อที่ต่ำ จากปีที่แล้วเกิดการล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั่วโลก ทำให้การคำนวนเงินเฟ้อจะสูงกว่าปกติในปีนี้ จึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่เปลี่ยนท่าทีและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจ
“จุดเด่นของกองทุน TUSMS คือ ผู้จัดการกองทุนหลักซึ่งมีประสบการณ์การลงทุนในหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กของสหรัฐฯ กว่า 22 ปี จะลงไปวิเคราะห์และพูดคุยกับผู้บริหารในแต่ละบริษัทที่เป็นเป้าหมายการลงทุนด้วยตัวเอง เพื่อค้นหาหุ้นที่เป็นเพชรน้ำงามที่นักวิเคราะห์ทั่วไปอาจยังเข้าไม่ถึงข้อมูล ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจึงมีโอกาสใกล้ชิดและทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริษัทในเชิงลึก รวมถึงมีโอกาสเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคายังไม่ปรับเพิ่มขึ้นไปมากนัก”
นายสาห์รัช กล่าว
นอกจากนี้ กลยุทธ์การเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนก็น่าสนใจ โดยมี 3 กลยุทธ์หลักในการเลือกหุ้น คือ 1. หุ้นที่มีคุณภาพ มีรายได้สม่ำเสมอ และมีงบการเงินแข็งแกร่ง โดยหุ้นกลุ่มนี้จะถือลงทุนประมาณ 1-7 ปี 2. หุ้นที่มีนวัตกรรมที่โดดเด่น สามารถรุกตลาดใหม่ๆ ได้ แม้ว่าจะยังไม่มีกำไร แต่มีโอกาสเติบโตสูง โดยหุ้นกลุ่มนี้จะถือลงทุนประมาณ 1-10 ปี และ 3. หุ้นที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญ ทั้งในเชิงการผลิตสินค้าและบริการ การตลาด เปลี่ยนการบริหารจัดการ เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่ รวมถึงหุ้นที่มีการควบรวมกิจการ โดยหุ้นกลุ่มนี้จะถือลงทุนประมาณ 1-3 ปี
สำหรับตัวอย่างบริษัทที่กองทุนหลักเข้าไปลงทุน เช่น Stamps ผู้ให้บริการส่งไปรษณีย์และบริการขนส่งทางอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้มีจุดเด่นที่มีรายได้สม่ำเสมอจากค่าสมัครรายเดือนของลูกค้า และมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากมีส่วนแบ่งการตลาดที่ยังไม่สูงนัก นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้เติบโตดี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553 – 2563) รายได้เติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปี บริษัทไม่มีการก่อหนี้ระยะยาว ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2545 ได้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และล่าสุดมีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น (ที่มา: Company Investor Presention)
อีกหนึ่งบริษัทตัวอย่าง คือ Western Digital ผู้นำด้านการจัดเก็บข้อมูล มีความโดดเด่นตรงที่มีรายได้จากหลากหลายธุรกิจ โดยในช่วงของโควิด -19 แพร่ระบาด กลุ่มธุรกิจ Client Devices และ Client Solutions ขยายตัวได้ดี ขณะที่กลุ่มธุรกิจ Data Center ก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ด้านผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวหลังจากเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ และยังได้ร่วมมือกับ Kioxia ผู้ผลิต Chip รายใหญ่ของโลก ซึ่งจะทำให้ Western Digital สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้ารายใหญ่ได้ และกลายเป็น Supplier รายใหญ่ที่สุดในโลกในที่สุด (ที่มา: Company Investor Relation, Statista)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: TUSMS, กองทุนรวม, กองทุนเปิด, กองทุนเปิดใหม่, ตราสารทุน, ทิสโก้, สาห์รัช ชัฏสุวรรณ