BAY มองกรอบบาทสัปดาห์นี้ 31.15-31.50 จับตาเงินหยวน,ข้อมูลจ้างงานสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15 – 31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 31.26 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 31.23 – 31.40 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ฝ่ายกำกับดูแล ให้ความเห็นว่าพร้อมที่จะเริ่มต้นหารือเกี่ยวกับการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ส่วนสมาชิกคณะกรรมการของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวว่า อีซีบียังไม่ควรชะลออัตราการซื้อพันธบัตร ซึ่งลดการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าอีซีบีจะประกาศลดการซื้อสินทรัพย์หลังการประชุมนโยบายวันที่ 10 มิ.ย.64

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงท้ายสัปดาห์ และนักลงทุนไม่ขานรับข้อมูลค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นเกินคาด ส่วนเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ท่ามกลางการปรับสถานะการลงทุนช่วงสิ้นเดือน และราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดโลกซึ่งวิ่งขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 7,078 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 2,299 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ หลายรายการ อาทิ ดัชนี ISM ภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคม โดยตัวเลขดังกล่าวอาจมีผลต่อท่าทีของเฟดในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.64 และคาดกันว่าในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางที่เมือง Jackson Hole ในเดือนสิงหาคม ประธานเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับแนวนโยบายการเงิน ซึ่งอาจกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะที่ในระหว่างนี้ค่าเงินหยวนอาจชี้นำสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชียได้เช่นกัน โดยทางการจีนได้ปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้นในระยะนี้ เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้าซึ่งที่สูงขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่ายอดส่งออกเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 13.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าส่งออกขยายตัว 4.78% ขณะที่ยอดนำเข้า เติบโต 13.85% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 698 ล้านดอลลาร์

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ทางกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีคาดว่าบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจยังคงขาดดุลต่อเนื่องในเดือนเมษายนตามการขาดดุลบริการ ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนอกภาคส่งออกมีความไม่แน่นอนสูง และขึ้นอยู่กับการจัดหาและกระจายวัคซีน ทางด้านมาตรการเยียวยาจากภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจในประเทศได้บางส่วน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top