สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน เม.ย.64 อยู่ที่ระดับ 91.88 ขยายตัว 18.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกเดือน เม.ย.64 มีมูลค่าเหนือระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายตัว 13.09% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และขยายตัวสูงที่สดในรอบ 36 เดือน และการผลิตรถยนต์เดือน เม.ย.64 ขยายตัวสูงมากในระดับ 3 หลัก จากฐานต่ำปีที่แล้วมีการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในช่วงต้นปี 2563 ขณะที่ 4 เดือนแรกปี 64 (ม.ค.-เม.ย.) ดัชนี MPI ขยายตัวเฉลี่ย 4.38%
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน เม.ย.64 อยู่ที่ 59.58% ลดลง 70.65% ในเดือน มี.ค.64 ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรก อยู่ที่ 65.48%
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI ในเดือนเม.ย. 64 ขยายตัว 18.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่
- รถยนต์ ที่ขยายตัวในระดับสูงถึง 288.06% จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากในปีก่อนมีการหยุดผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตรายหลาย หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด-19
- ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69.74% จากยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ขยายตัว 75.61% จากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นจึงมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- เหล็ก ขยายตัว 29.2% ขยายตัวเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลงโดยจีนซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้นจึงสั่งปิดโรงงานเหล็กที่ผลิตไม่ได้ตามมาตรฐานส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับในช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกปรับตัวสูงขึ้น จากทั้งสองปัจจัยหลักข้างต้นจึงทำให้การผลิตเหล็กของไทยเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาเหล็กและความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
- เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 515.18% เนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แม้ว่าจะมีการควบคุมในบางพื้นที่
- เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57.38% ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการและจัดรายการส่งเสริมการขายกระตุ้นการจำหน่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มคลี่คลายทำให้การดำเนินการส่งออกกลับมาเป็นปกติหลังจากการปิดช่องทางขนส่ง
นายทองชัย กล่าวต่อว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย.64 มีมูลค่า 16,178.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.69% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.63 และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 13.09% เป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 36 เดือน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 11.44% สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.46% และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12.43% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เป็นต้น การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 26.82% สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งจากตัวเลขทั้งภาคการส่งออกและการนำเข้าสะท้อนให้เห็นถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าตัวเลข MPI ในเดือนถัดไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตเดือน พ.ค.64 ได้แก่ การขยายตัวของ MPI ในเดือน พ.ค.64 ยังคงได้รับอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในปี 63 ต่อเนื่อง, ทิศทางการส่งออกยังมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นเครื่องยนด์ที่มีผลเป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกับการใช้จ่ายภาครัฐ ในการประคองเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้, การระบาดและมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากโควิด-19 ทั้งนี้จากการที่ประเทศไทยมีการควบคุมการระบาดได้ดี ทำให้ในเดือนพฤษภาคม ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรม-กิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมา ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมรวมถึงภาคอุตสาหกรรม
ส่วนกรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการอาจจะส่งผลต่อการผลิตในภาคอดสาหกรรมบ้าง แต่ไม่น่าจะส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นการเชื้อเฉพาะกล่ม ยังไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain), สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตเกษตรเสียหาย และมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบเกษตร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้นสะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการผลิตในภาพรวมและกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงถือได้ว่าเป็นกลจักรสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: MPI, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, สศอ., สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม