นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยเพิ่มเติม 3 มาตรการ โดยคาดการณ์ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบุคคล 6 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงและขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว
โดยมาตรการดังกล่าวสำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคลที่มีสถานการณ์ชำระหนี้เป็นปกติ หรือ ไม่ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเกินกว่า 90 วัน ประกอบด้วย
1. สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ Home for Cash สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน (Home Easy Cash) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) พักชำระเงินต้นและชำระดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน
2. สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน
3. สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้
นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ 2 มาตรการ ประมาณการความช่วยเหลือรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนี้
1. มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ใน 2 ปีแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี เปิดกว้างให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ลูกค้าเดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่มีอยู่กับธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ณ 28 ก.พ. 64 ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท (นับรวมวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินทุกแห่ง)
2. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชำระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคาต้นทุนรับโอนบวกค่าธรรมเนียม Carrying Cost 1 % และบวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าที่ลูกค้าชำระมาแล้ว มาตรการนี้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนและการโอนคืนกลับให้ลูกค้า สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์โอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ ต้องมียอดสินเชื่อธุรกิจคงเหลือกับธนาคาร ณ 28 ก.พ. 64 และ ไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62 รวมทั้งทรัพย์สินที่โอนต้องเป็นหลักประกันกับธนาคารก่อน 1 มี.ค. 64
“ธนาคารเร่งช่วยเหลือลูกค้าในเชิงรุกทุกช่องทาง ผ่านเครือข่ายสาขาที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้า ทำให้รู้ว่าแต่ละรายต้องการความช่วยเหลือด้านใด นอกจาก 5 มาตรการ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยการเสริมสภาพคล่องให้คู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้า โดยออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าของสยามพิวรรธน์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SME และพันธมิตรทุกกลุ่มสามารถประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น 31 มี.ค. 64 มีสินเชื่อที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือตามมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยเป็นลูกค้าบุคคลกว่า 3 หมื่นล้านบาท ลูกค้าธุรกิจและ SME กว่า 9 หมื่นล้านบาท”นายเอกชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: KTB, ธนาคารกรุงไทย, สินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อส่วนบุคคล, เอกชัย เตชะวิริยะกุล