พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมีหลักการที่สำคัญดังนี้ มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้ที่ไม่เกิน 3.1 ล้านล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย
ขณะที่ประมาณการรายได้สุทธิไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท และเป็นงบประมาณแบบขาดดุล 7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 65 นี้ อยู่บนสมมติฐานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ 4-5% โดยเป็นการขยายตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ตามแนวโน้มปริมาณการค้าโลก รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 0.7-1.7%
ขณะที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 นี้จะขยายตัวได้ 2.5-3.5% โดยมีแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกตามความคืบหน้าของการอนุมัติและการกระจายวัคซีน, มาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงิน-การคลัง, การใช้จ่ายภาครัฐและการกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน ภายใต้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ 1-2%
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็น 54.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 60% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 8,068,913.7 ล้านบาท
ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 372,784.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลัง
ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาล
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา มีการผ่อนคลายต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรก และได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ที่ 0.5% เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมมีความผ่อนคลาย สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการช่วยดูแลภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ และเอื้อให้ต้นทุนทางการเงินของการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ
สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 มีจำนวน 250,433.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
“ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2565 มีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนประเทศ ปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานและยกระดับขีดความสามารถประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน และกระจายการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”
นายกรัฐมนตรีกล่าว
สำหรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาทนั้น จำแนกเป็น
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,360,543.0 ล้านบาท หรือคิดเป็น 76.1%
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02%
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8%
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 624,399.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1%
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2%
ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท
เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประมาณการการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งมีลักษณะรายจ่ายประจำที่จำเป็นต้องใช้จ่าย อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ ตามกฎหมาย ข้อผูกพัน การจัดสวัสดิการทางสังคมและบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานเพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ค่าใช้จ่ายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละระดับ รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จึงได้กำหนดรายจ่ายลงทุนไว้จำนวน 624,399.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.14% ซึ่งเป็นวงเงินที่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณ
สำหรับยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 65 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 387,909.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.5% ของวงเงินงบประมาณ โดยมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ
- 2) การรักษาความสงบภายในประเทศ
- 3) การพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- 4) การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- 5) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 338,547.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.9% โดยมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
- 2) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- 3) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
- 4) การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล
- 5) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน
- 6) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 548,185.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.7% โดยมีแผนงานที่สำคัญ ดังนี้
- 1) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี
- 2) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต
- 3) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้
- 4) การสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 733,749.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23.7% โดยมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การเสริมสร้างพลังทางสังคม
- 2) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- 3) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
- 4) การสร้างหลักประกันทางสังคม
- 5) มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 119,600.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.9% โดยมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- 2) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
- 3) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม
- 4) การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการภาครัฐและงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 559,300.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.0% โดยมีแผนงานที่สำคัญ ได้แก่
- 1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- 2) รัฐบาลดิจิทัล
- 3) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ
- 4) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)
Tags: GDP, ครม., งบประมาณปี 65, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย, เศรษฐกิจไทย