นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงกรณีที่ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT สาขาตรัง และ สาขาสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28-30 พ.ค. 2564 เพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกกับพนักงานทุกคนและทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรงงาน หลังพบพนักงานบางส่วนติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว กยท. ประเมินแล้วพบว่า ไม่ส่งผลกระทบกับสถานการณ์ยางพารา
เนื่องจากการปิดโรงงานเฉพาะที่สาขา จ.ตรัง และ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวลารวม 3 วัน เมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำยางที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตของวันที่ปิดไปนี้ ไม่ถึง 2,000 ตัน เนื่องจากการผลิตถุงมือยาง 1 คู่ ใช้น้ำยางสดเป็นวัตถุดิบเพียง 32 กรัมเท่านั้น ประกอบกับช่วงนี้ผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย เนื่องจากเพิ่งเริ่มฤดูเปิดกรีดยาง และฝนที่ตกชุก รวมถึงการขาดแคลนแรงงานกรีดยางในพื้นที่ จึงไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด
“ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะมีการรับซื้อและส่งมอบล่วงหน้ากันอยู่แล้ว อีกทั้งการขายที่มีสัญญา ผู้ประกอบการต้องส่งมอบตามกำหนดเวลา ดังนั้นผลกระทบด้านจิตวิทยาสั้นๆอาจจะมีบ้างแต่หากเข้าใจตลาดจะไม่มีอะไรน่ากังวล”นายขจรจักษณ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 64)
Tags: STGT, กยท., การยางแห่งประเทศไทย, ขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล, ตลาดยาง, ยางพารา, ศรีตรังโกลฟส์