ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล็งนำเข้า-บริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มให้หน่วยงานรัฐ-เอกชนที่สนใจซื้อ

นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงว่า ราชวิทยาลัยฯ ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำเข้าวัคซีนางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยเบื้องต้นได้มีข้อตกลงที่จะนำเข้ามาล็อตแรก 1 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากล่าสุดได้รับการขึ้นทะเบียนวัคซีนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เพื่อนำมากระจายวัคซีนให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน ซึ่งจะมีการกำหนดราคาขายราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป

“การจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึง และได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ เป็นการทำงานคู่ขนานไปกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแบ่งเบาภาระ ไม่ให้การฉีดวัคซีนเกิดการสะดุด”

นพ.นิธิ กล่าวในการแถลงข่าว

วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) มีชื่อทางการว่า “BBIBP-CorV” เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เช่นเดียวกับ ซิโนแวก และ โควาซิน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ

ปัจจุบัน ซิโนฟาร์ม ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดสทั่วโลก ทั้งในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน ฮังการี ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก และได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ 6 โดยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ระบุว่าวัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น นอกจากนี้ ยังมีแถบตรวจสอบบนขวดซึ่งเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิความร้อน จึงสังเกตได้ง่ายว่าวัคซีนปลอดภัยและใช้งานได้หรือไม่

หลังจากนี้ ราชวิทยาลัยฯ จะสำรวจความต้องการวัคซีนซิโนฟาร์ม เพื่อวางแผนสั่งซื้อ นำเข้า และจัดสรรกระจายวัคซีนตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้มีองค์กรขนาดใหญ่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อแล้ว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) , บมจ.ปตท.(PTT) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีเงื่อนไขว่าจะต้องกำหนดจำนวนการใช้ สถานที่ฉีดชัดเจน เพื่อรายงานกลับไปยังผู้ผลิต

ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ จะพิจารณาแผนการกระจายวัคซีนที่เหมาะสม เช่น การฉีดให้กับโรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม, ตลาด, กิจกรรมหรือกิจการที่จะช่วยให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ เป็นต้น

“ถ้ารู้จำนวนแน่นอนว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ ก็จะสอบถามไปทางสาธารณะว่ากลุ่มไหนบ้างต้องการวัคซีนไปใช้เพื่ออะไร ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัคซีนหลักที่ทางราชวิทยาลัยฯ ฉีดให้กับวัคซีนของรัฐบาลอยู่แล้ว หากกลุ่มหรือหน่วยงานที่ต้องการใช้วีคซีนทางเลือกก็ต้องมาซื้อจากราชวิทยาลัยฯ คนที่จะติดต่อซื้อต้องมีความชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้หลุดออกไป นำไปขายต่อทำกำไร”

นพ.นิธิ กล่าว

“วัคซีนนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับส่วนที่ได้เปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียน ตรงนั้นยังใช้วัคซีนของรัฐคือซิโนแวกหรือแอสตร้าเซนเนก้า ที่สามารถฉีดให้ได้วันละ 4-5 พันโดส…ไม่ได้คิดว่าจะคนเดินเข้ามาฉีด (ซิโนฟาร์ม) โดยเสียเงินได้ เพราะมันจะไปปนกับวัคซีนปกติ แต่ถ้าเป็นคนละสถานที่อาจจะทำได้ก็ต้องดูระบบโลจิสติกส์ก่อน”

นพ.นิธิ กล่าว

ส่วนการกำหนดราคาขายต่อให้องค์กรต่างๆ จะต้องพิจารณาจากต้นทุนทุกเรื่อง ทั้งปริมาณความต้องการที่แน่นอนค่าขนส่ง และค่าประกัน ซึ่งดำเนินการด้วยเงินรายได้ของราชวิทยาลัยฯ ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไร และหากเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ หรืออาการข้างเคียงก็มีค่าประกันต่างหาก ซึ่งไม่ไปเกี่ยวข้องกับงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“ต้องขึ้นกับท้ายสุดว่าราคาท่าไหร่ ราคาซื้อ ค่าขนส่ง ค่าเก็บ ราชวิทยาลัยฯ คงไม่ได้เอากำไรมากเท่าไหร่ ส่วนใครจะไปคิดค่าฉีดเท่าไหร่ก็ว่ากัน”

นพ.นิธิ กล่าว

นพ.นิธิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ เป็นสถาบันวิจัยหลักที่จะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีวัคซีนขนิดไหนเหมาะสมกับเชื้อไวรัสโควิดที่จะระบาดในระยะข้างหน้า โดยจะพยายามดูแลติดต่อเพื่อซื้อเข้ามาอีก โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดต่อกับต่างประเทศในอนาคต เพราะในที่สุดแล้วจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีเกินปริมาณคนเพื่อจะได้ควบคุมการระบาดได้

ทั้งนี้ ในส่วนของภารกิจการจัดหาวัคซีนทางเลือกในสถานการณ์การแพร่ระบาดฉุกเฉินนี้ อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจจนเกินกว่ากฎหมายเดิมแต่อย่างใด และการผลิตนำเข้ารวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน

ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอ ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็จะค่อยๆ ลดบทบาทในการจัดสรรปริมาณวัคซีนตัวเลือกนี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆที่สามารถผลิตได้ในประเทศเช่นกัน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หากหน่วยงานใดเจรจาติดต่อกับผู้ผลิตได้ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ได้เช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะให้การสนับสนุน และขอแสดงความยินดีกับราชวิทยาลัยฯ ที่ อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มแล้ว

ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือจากราชวิทยาลัยฯ เป็นอย่างดี เช่น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top