- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 144,976 คน (+3,759)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 1,374 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 1,073 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 18 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 1,294 ราย
- รักษาหายแล้ว 97,872 คน (+4,044)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 46,150 คน (-319)
- เสียชีวิตสะสม 954 คน (+34)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,759 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,374 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,073 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,294 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย มาจากกัมพูชา 11 ราย อินเดีย 4 ราย โอมาน อินโดนีเซีย มาเลเซียประเทศละ 1 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย เพศชาย 18 ราย หญิง 16 ราย อายุระหว่าง 33-92 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และเป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และมี 1 รายเป็นหญิงตั้งครรภ์
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงลักษณะของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิต ทั้งในระลอกแรก ระลอก 2 และระลอก 3 ซึ่งพบว่าอัตราป่วยตายในระลอก 3 อยู่ที่ 1.23% ใกล้เคียงกับระลอกแรก อยู่ที่ 1.42% ส่วนระลอก 2 อยู่ที่ 0.14% ในขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มป่วยจนเข้ารับการรักษา พบว่าระลอก 3 มีระยะเวลาที่สั้นลงเหลือเฉลี่ยเพียง 1.6 วัน ส่วนระลอกแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 6 วัน และระลอก 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 4 วัน และมีข้อมูลสำคัญ ถึงระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่พบเชื้อจนเสียชีวิต ในระลอก 3 นี้ ที่พบว่าผู้ป่วยถึง 54 รายมีระยะเวลาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อจนถึงเสียชีวิตเพียง 0-1 วันเท่านั้น
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 144,976 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 97,872 ราย เพิ่มขึ้น 4,044 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 954 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ส่วนใหญ่ยังสูงสุดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 973 ราย รองลงมา คือ เพชรบุรี 658 ราย สมุทรปราการ 221 ราย และนนทบุรี 102 ราย โดยทั้ง 4 จังหวัด ยังถือว่ามีผู้ติดเชื้อในระดับเกินกว่า 100 คน/วัน ในขณะที่วันนี้พบว่าจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมีอยู่ 29 จังหวัด
สำหรับในกรุงเทพฯ พบการระบาดใหม่อีก 3 คลัสเตอร์ คือ ตลาดมีน เขตทุ่งครุ 36 ราย, บริษัทเอกชน เขตบางแค 89 ราย และสถานทูต เขตวัฒนา 9 ราย ซึ่งในภาพรวมแล้วการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ถือว่ากราฟยังขึ้นในระดับสูง การระบาดยังคงหนาแน่นอยู่ในตลาด และที่ชุมชน จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยลดการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางข้ามพื้นที่
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รายงานให้ทราบว่า ขณะนี้ได้มีการปิดตลาด 2 แห่ง เป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค หลังจากพบว่ามีการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ตลาดพระปะแดง และตลาดสำโรง ขณะเดียวกันได้เตรียมเปิด รพ.สนาม อีก 500 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด
รวมทั้งจะเร่งดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่รอบคอนโดมิเนียม 2 แห่ง ที่พบว่ามีการระบาด ตลอดจนชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งคาดว่าในบริเวณคอนโดฯ รวม 6 ตึก และชุมชนใกล้เคียงจะมีประชากรอาศัยอยู่รวมกันราว 8 พันคน ซึ่งจะเร่งตรวจเชิงรุกให้ได้วันละ 1,500 คน
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีที่ประชาชนมีความกังวลต่อการปรับแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้ยกให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอันดับแรก คือ ลดอัตราการป่วย-ตาย ดังนั้นเป้าหมายกลุ่มแรกของผู้ที่จะได้ลงทะเบียนรับวัคซีน ต้องมุ่งไปที่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่หากติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นั่นคือ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ตลอดจนผู้มี 7 กลุ่มโรคประจำตัว อันดับถัดมา คือการปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ โดยมุ่งไปที่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
“เมื่อหลักการกระจายวัคซีนเป็นแบบนี้ ดังนั้นการบริหารจัดการวัคซีนในระยะแรก ที่เรามีวัคซีนจำกัดช่วงก.พ.-พ.ค. จึงเน้นการกระจายวัคซีนไปกลุ่มบุคลากรแพทย์ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และมีการสำรองวัคซีนสำหรับควบคุมพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดฉุกเฉิน”
พญ.อภิสมัยระบุ
อย่างไรก็ดี ได้มีการเสนอข้อมูลเพิ่มเติมจากบางจังหวัดที่เห็นว่าหลักการจัดสรรวัคซีนในระยะแรกที่ให้กับบุคลากรแพทย์ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง อาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น บางจังหวัดที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว หรือจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งบางจังหวัดที่เปิดให้มี Local Quarantine หรือ State Quarantine จึงได้เสนอแนะแนวทางเข้ามาที่ ศบค.เพื่อขอปรับการจัดสรรวัคซีนให้มีความสอดคล้องกับบริบทของในจังหวัดนั้นๆ
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ระยะที่ไทยมีวัคซีนมากขึ้นเช่นในปัจุบันนี้ จึงได้วางเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70% ของประเทศ หรือคิดเป็น 50 ล้านคน (ไม่นับเด็ก และหญิงตั้งครรภ์) รวมแล้วต้องใช้วัคซีน 100 ล้านโดส โดยต้องฉีดเข็มแรกให้แล้วเสร็จภายในก.ย.64 และเข็มสอง ภายในธ.ค.64 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
“เมื่อแผนระยะสองมา การจัดสรรวัคซีนตามพื้นที่นั้น กรมควบคุมโรคจัดสรร 70% ของประชากรแต่ละจังหวัด คือ จัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน แต่มีหลายจังหวัดเสนอว่า พื้นที่ระบาดน้อยทำไมได้วัคซีนมาก เป็นไปได้หรือไม่ว่าขอโควต้าวัคซีนมาใช้กับจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูงก่อนได้หรือไม่ ก็ฟังดูมีเหตุผล แต่จังหวัดที่ติดเชื้อน้อยก็บอกว่า เหตุที่จังหวัดมีผู้ติดเชื้อน้อยเพราะมีการทำงานหนัก มีมาตรการเข้มข้น ทำให้ควบคุมการระบาดได้ดี ดังนั้นจึงควรได้การจัดสรรวัคซีนตามโควต้าที่ควรจะได้หรือไม่ ซึ่ง ศบค.ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกพื้นที่ ที่มีบริบท และความสำคัญแตกต่างกัน”
พญ.อภิสมัยกล่าว
ดังนั้น ศบค.จึงได้ปรับเปลี่ยนแผนการจัดสรรวัคซีนให้ตามข้อเสนอแนะของแต่ละพื้นที่ที่มีเข้ามา เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์มากขึ้น ทั้งการพิจารณาตามพื้นที่ และบุคคลกลุ่มเสี่ยง
สำหรับการลงทะเบียนจองรับวัคซีนโควิด-19 ผ่านระบบหมอพร้อมนั้น ยืนยันว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง ที่ลงทะเบียนกับหมอพร้อมสำเร็จแล้ว จะยังคงได้รับการฉีดวัคซีนตามวันเวลาที่นัดหมายเดิม อย่างไรก็ดี หากจังหวัดใดเห็นว่ามีช่องทางเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาการลงทะเบียนให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดตัวเองก็สามารถทำได้ เช่น ภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เป็นต้น
“หมอพร้อมไม่ได้ยกเลิก แต่เปิดช่องทางให้ลงทะเบียนเข้าถึงการฉีดวัคซีน และจองวัคซีนมากขึ้น เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่…ย้ำว่ากลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงที่ได้ลงทะเบียนสำเร็จแล้วกับหมอพร้อม ไม่ต้องกังวล จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายแน่นอน”
พญ.อภิสมัย กล่าว
แต่หากผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีนนั้น ถือว่ายังลงทะเบียนไม่สำเร็จ ซึ่งประชาชนสามารถเลือกไปใช้การลงทะเบียนรับวัคซีนในช่องทางอื่นเพิ่มเติมได้เช่นกัน
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 169,623,481 ราย เสียชีวิต 3,525,023 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 33,999,680 ราย อันดับสอง อินเดีย 27,547,705 ราย อันดับสาม บราซิล 16,342,162 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,635,629 ราย และอันดับห้า ตุรกี 5,220,549 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 84
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19, โควิดวันนี้