ธุรกิจในไทยต่างมีแนวทางรับมือสถานการณ์การระบาดโควิด-19 กลุ่มโรงแรมแม้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น แต่การเริ่มเห็นการฉีดวัคซีนก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวในประเทศในกลับมาได้ แต่กำหนดเปิดประเทศในไตรมาส 4/64 อาจไม่ง่ายหวั่นฉีดวัคซีนยังไม่มากพอ ด้านเครือไทยโฮลดิ้งส์ ชี้หลังโควิดแนะให้ความสำคัญกับข้อมูลวิเคราะห์แก้ปัญหาตอบโจทย์ธุรกิจได้แม่นยำ ส่วนโตโยต้า ยักษ์ใหญ่ยานยนต์หันปรับตัวธุรกิจเร่งสปีดเน้นสนองความต้องกาลูกค้า ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกำลังซื้อในประเทศยังมีจำกัด พร้อมเสนอให้รัฐให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้มากกว่า 30 ปี เพื่อจูงใจ
นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย ที่มีทั้งกิจการโรงแรม และ กลุ่มก่อสร้างต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง”Thailand Survivor…ต้องรอดว่า กลุ่มโรงแรมและบริการ ภายใต้บริษัท ออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป ที่รับบริหารจัดการโรงแรม รวมทั้งเป็นเจ้าของโรงแรมด้วย แม้ว่าจะเกิดการระบาดโควิด-19 โรงแรมของบริษัทไม่ได้ปิดทำการ เพื่อให้พนักงานมีงานทำ มีรายได้ สร้างความเชื่อที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีม
ในช่วง 12 เดือนแรกเรามาทำการปรับปรุงโรงแรมให้ดูใหม่ขึ้น แต่ปัญหาโควิดไม่จบ ก็ขึ้นรอบที่ 2 รอบนี้บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น และมองว่าสถานการณ์โควิดยื้ดเยื้อ แต่เชื่อว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ น่าจะเห็น upside แต่คาดว่าโควิดจะยังมีผลกระทบอย่างน้อย 2 ปี แม้ว่าการฉีดวัคซีนในสหรัฐและยุโรปไปได้ด้วยดี แต่ญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีน ยังไม่ให้ประชาชนเดินทางมาประเทศไทย
ในครึ่งปีหลังปี 64 เชื่อว่าถ้าฉีดวัตซีนครบ การท่องเที่ยวในประเทศ (domestic) จะกลับมา ซึ่งเราเห็นเทรนด์ตั้งแต่ในปีที่แล้ว เชื่อว่าในไตรมาส 3/64 มีความหวังดึงดูดคนไทยให้เที่ยวไทยได้มากขึ้น และไตรมาส 4/64 ประเทศไทยจะเริ่มเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยเชื่อว่าดีมานด์มาจากคนไทยที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศจะกลับมาท่องเที่ยวในประเทศแทน
“คาดว่าหลังฉีดวัคซีน ท่องเที่ยวในประเทศก็จะกลับมา ซึ่งโรงแรมของเราเตรียมรองรับลูกค้าในประเทศในไตรมาส 3/64 ดังนั้นก็จะเห็นก.ค. นี้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว… เราเชื่อประเทศไทยจะกลับมา ไม่ช้าก็เร็ว”
ขณะเดียวกันภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่จะเริ่ม 1 ก.ค.นี้ ก็ยังกังวลเรื่องเที่ยวบิน รวมถึง value chain ท่องเที่ยวในภูเก็ต อย่างร้านอาหาร ซึ่งยังไม่ฟื้น รวมทั้งในเดือน ก.ค. เป็นช่วงฤดูฝน มีคลื่นสูง ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีในการท่องเที่ยว ปกติตลาดในเดือน ก.ค.จะเป็นนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกกลางและอินดียมากกว่า
“รัฐยังได้กำหนดเปิดประเทศ 1 ต.ค. แต่สิ่งที่กังวล เราพร้อมจะเปิดประเทศหรือไม่ ผู้สูงอายุยังฉีดไม่ครบ ซึ่งมีแผนฉีดวัคซีนได้มากพอไหม และเรายังไม่รู้ประเทศเราจะ safe to travel หรือไม่ คนทำงานเพิ่งเริ่มฉีด กว่าจะฉีดได้ครบ 2 เข็มก็ใช้เวลา ถ้าเปิดประเทศแล้วเกิดการระบาดอีก เราพร้อมรับมือหรือยัง ด้านสาธารณสุขก็มีประเด็นที่น่ากังวล”
ทั้งนี้ วัคซีนไม่ใช่จุดแก้ปัญหาทุกอย่าง ซึ่งเป็๋นจุดเริ่มต้นไม่ป่วยไม่ตาย แต่อาจไม่สามารถหารายได้มากขึ้น เพราะรายได้มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รายได้ในประเทศมีไม่ถึง 20% ซึ่งไม่พอเลี้ยงพนักงาน ซึ่งเจ้าของก็ต้องเข้าไปอุดหนุน อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีความหวัง ปีหน้า ปีต่อไปดีขึ้น แต่ตอนนี้ช่วยกันประคับประคองให้สถานการณ์ เพราะไทยเป็นประเทศต้นๆที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ภาคบริการเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อน GDP ของไทย ด้วย
เสนอให้ต่างชาติเช่าที่ดินเกิน 30 ปี
นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือบมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ยังคงเป็นแรงกดดันให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะประเภทที่อยู่อาศัย และพื้นที่เช่าค้าปลีก
โดยที่ในส่วนของที่อยู่อาศัยนั้นได้รับผลกระทบค่นอข้างมาก จากกำลังซื้อที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว แม้ว่าในช่วงการระบาดในรอบแรกเมื่อปีก่อนการปรับตัวทางการตลาดของผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยหลายรายจะสามารถกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยได้ค่อนข้างมาก แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดในรอบที่ 2 และรอบที่ 3 เริ่มเห็นการขายที่ชะลอตัวจากกำลังซื้อที่ถูกดูดซับไปมากแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น กำลังซื้อในประเทศยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของความสามารถในการกู้ยืม เพราะปัจจุบันครัวเรือนไทยมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงแตะระดับ 91% ในสิ้นไตรมาส 1/64 ทำให้เห็นแรงซื้อเริ่มแผ่วลง และมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยที่ปัจจุบันยอดขายในตลาดทาวน์เฮาส์เริ่มชะลอลง และคอนโดมิเนียมยังชะลอตัวต่อเนื่อง จากการที่เป็นสินค้าที่เจาะกลุ่มกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อระดับปานกลางลงไป แต่ตลาดบ้านเดี่ยวที่ส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ยังสามารถช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าหากจะต้องพึ่งกำลังซื้อในประเทศในตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศ คงไม่เพียงพอที่จะช่วยระบายสินค้าในตลาดออกไปได้ หรือช่วยให้ตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศสามารถขยายตัวได้มากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องพึ่งกำลังซื้อจากชาวต่างชาติที่จะเข้ามาเสริม โดยที่ได้มีการเสนอแนวทางให้กับภาครัฐไปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการขยายระยะเวลาการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยจากเดิม 30 ปี เป็น 30+30+30 ปี ที่จะสามารถดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้มากขึ้น แต่กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินยังคงเป็นของไทย
นอกจากนี้มองว่าตัวบริษัทเองยังต้องปรับแผนในการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัมนาที่อยู่อาศัยที่จะเริ่มรุกหนักการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปในต่างจังหวัดให้มากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี และระยอง ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถหาโอกาสในการขายที่อยู่อาศัยได้ และเป็นการขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
ส่วนการพัฒนาคอนโดมิเนียมยังคงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่บริษัทพยายามหาโอกาสที่จะเข้าไปพัฒนา เนื่องจากยังเป็นที่อยู่อาศัยที่คนที่ทำงานในเมืองยังมีความต้องการซื้อ แต่การพัฒนาคอนดดมิเนียมนั้นในแนวทางของบริษัทจะเน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียม 8 ชั้น ซึ่งมีต้นทุนในการลงทุนที่ไม่สูง จากขนาดที่ดินที่ต้องใช้มาก และสามารถให้ผลตอบแทนกลับมาได้อย่างรวดเร็ว จากระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นไม่เกิน 2 ปี ก็สามารถโอนรับรู้รายได้เข้ามาได้ และเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างการมองหาที่ดินในการพัฒนาคอนโดมิเนียม
ด้านธุรกิจพื้นที่เช่าค้าปลีกแม้ว่าจะมีสัญญาระยะยาว 3-5 ปี กับทางผู้เช่าร้านค้าก็ตาม แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ลูกค้าผู้เช่าได้รับผลกระทบไปด้วย ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า โดยเฉพาะการลดค่าเช่า เพื่อทำให้ลูกค้ายังสามารถดำเนินกิจการไปต่อได้ รวมถึงลูกค้าบางรายที่เช่าฟื้นที่อาคารสำนักงานของบริษัทก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
แม้ว่าปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังมีธุรกิจในเครือของ FPT ที่ได้อานิสงส์บวกจากการส่งออกที่ฟื้นกลับมาก การซื้อของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ธุรกิจพื้นที่เช่าคลังสินค้าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลงานให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี จากการที่เศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้ภาคการส่งออกได้รับประโยชน์ และการทำงานที่บ้าน ทำให้มีความต้องการสั่งซื้อสินค้าผ่านชื่องทางออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทยังเชื่อว่าการกระจายธุรกิจอสังหารมิทรัพย์ในหลากหลายด้านในรูปแบบแพลตฟอร์มนั้นจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ซึ่งได้พิสูจน์ออกมาแล้วในช่วงโควิด-19 บริษัทยังมีความสามารถในการสร้างผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี และในอนาคตบริษัทจะยังต้องมีการสร้างความสมดุลของพอร์ตธุรกิจให้สมดุลกันระหว่างธุรกิจอสังริมทรัพย์เพื่อขายและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ให้มีสัดส่วนรายได้เป็น 50 : 50 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 70 : 30
Data Driven ตีโจทย์หาทางรอด
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหร บมจ. เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) กล่าวในงานสัมมนาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูล (Data Driven) ข้อมูลคือน้ำมันที่ต้องกลั่นเพื่อให้ได้อินไซด์ โดยหลังเหตุการณ์โควิดเริ่มเห็นเทรนด์ที่จะอยู่รอดในช่วงโควิด ต้อง Transform Business เพื่อให้อยู่ได้ระยะยาว แข่งกันที่ความรวดเร็ว และไม่แบกต้นทุน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วย Digitization และมีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์
เมื่อเจอปัญหาต้องตั้งสติ และคิดผ่านคำถามที่จะช่วยต่อยอดอย่างไรบ้าง เพราะการคิดต้องใช้ข้อมูล เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ทำใหม่ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไร จะเกิดแนวคิดอย่างไร เช่น การนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุในชั้นซุปเปอร์มาร์เก็ตนำมาลดราคาเพื่อสร้างยอดขายให้เร็ว เป็นต้น
นายฐากร ระบุว่า การนำข้อมูลมาวิเคราะห์จะเกิดประโยชน์ทั้งการแก้ไขปัญหาธุรกิจ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขปัญหาธุรกิจการนำข้อมูลมาช่วยให้รู้ว่าควรพัฒนาธุรกิจ ใช้ต้นทุนขนส่งอย่างไรให้ถูกลง และตัดสินใจได้ถูกต้อง
ดังนั้นการวางกลยุทธ์ ธุรกิจต้องนำข้อมูลมาวางแผนธุรกิจ เพื่อจะขายของได้มากขึ้น ต้นทุนที่สามารถลดได้ ประหยัดได้ตรงไหน ทำกำไรมากขึ้น ควรบริหารความเสี่ยงอย่างไร จะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับบริษัทยาวๆ
พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลของธุรกิจประกัน พบว่า เบี้ยอุตสาหกรรมโต 13% แต่เบี้ยประกันสุขภาพและอุบัติเหตุโตขึ้น 38% นี่อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ เราวางกลยุทธ์ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เนื่องจากข้อมูลชี้ว่าอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวโตขึ้น 20%/ปี รวมไปถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องการเคลมประกันให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การนำไปซ่อมให้เร็วที่สุด รวมถึงการนำข้อมุลเพื่อให้ประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า หรือให้ลูกค้าพึงพอใจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็มีข้อมูล ทุกธุรกิจจะเข้าสู่ยุค Data Business
ด้านนายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด การอยู่รอดของบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ต้องปรับตัวให้เร็วขึ้น โตโยต้ามองว่ายุคนี้ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วที่กินปลาช้ามากกว่า เพราะฉะนั้นโตโยต้าต้องเปลี่ยนตัวเองให้เร็ว โดยได้นำ Agile Marketing มาใช้งาน
พร้อมกลับมาจุดเริ่มต้นคือ Toyota way ที่จะทำใน 3 เรื่อง คือ เราปรับปรุงทั้ง ซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และ พาร์เนอร์ โดยผู้บริหารระดับสูงที่จะเป็นกลไกให้งานสำเร็จ รวมถึงการเข้าไปดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยการจับมือพาร์ทเนอร์ และเติบโตไปด้วยกัน ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอันใกล้นี้ โตโยต้าไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง
โตโยต้าเปลี่ยนเป็น Mobility Company ไม่ใช่ผลิตรถยนต์ขายที่มีการผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย แต่การผลิตตรงตามความต้องการลูกค้าจะไม่มีสต๊อก ทำให้เรามีความสามารถแข่งขันได้มากขึ้น เราต้องกลับไปจุดเริ่มต้นว่าผลิตรถมาเพื่ออะไร การเปลี่ยนแปลงเป็น Mobility Company ก็ต้องมีการตอบเสนองตามความต้องการได้เร็ว
“ในไทย เราจะปรับวิสัยทัศน์ที่จะเป็น Mobility Company รวดเร็วได้อย่างไร เรามีแนวคิด ได้เปลี่ยน silo work เป็น วางงานให้ตรงกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หลายหน่วยงานทำงานตามความต้องการลูกค้ามากขึ้น การยอมรับการทำงานข้ามสายงานมากขึ้น แน่นอน ก็ต้องใช้เวลาสื่อสาร”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 64)
Tags: การท่องเที่ยว, ฐากร ปิยะพันธ์, ยุทธชัย จรณะจิตต์, สุรศักดิ์ สุทองวัน, อสังหาริมทรัพย์, อิตัลไทย, เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, แสนผิน สุขี, โรงแรม