วิปรัฐบาล คาด พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนลบ.เข้าที่ประชุมสภาหลัง พ.ร.บ.งบปี 65

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) คาดว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม ไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท หลังจากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระแรกเสร็จสิ้น หรือหลังวันที่ 2 มิ.ย.64

เนื่องจากในการประชุมวันที่ 27-28 พ.ค.นี้ จะมีการพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้แล้ว และในวันที่ 31 พ.ค.ถึง 2 มิ.ย.นี้ สภาผู้แทนราษฎรก็ได้บรรจุวาระพิเศษในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะเข้าสภาฯ เมื่อใด แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ส.ส. หรือ ส.ว.มีสิทธิเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้เพียงว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปกป้องภัยพิบัติสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม การออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 ที่กำหนดให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ทั้งนี้กำหนดให้ดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าควรรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 นั้น แต่ข้อเท็จจริงพบว่าการเบิกจ่ายงบฯ ปี 65 จะเกินวันที่ 1 ต.ค.64 และหากจะให้กู้เงินผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นงบประมาณขาดดุล และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลนั้นใกล้เต็มวงเงินที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 อนุญาตให้ทำ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top