สุพัฒนพงษ์ นำทีมศก.แจงออก พ.ร.ก.กู้ 5 แสนลบ.รองรับความไม่แน่นอนโควิดในอนาคต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ชี้แจงการการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า เป็นวงเงินที่นำมาใช้ดูแลประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย และการสร้างงานให้กับประชนในท้องถิ่น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคตหรือการระบาดที่อาจจะต้องทอดยาวไปอีก โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดที่จะล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่เน้นการควบคุมเป็นรายจังหวัด ซึ่งในจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวก็สามารถประกอบธุรกิจได้เกือบปกติ

อีกทั้ง รัฐบาลยังมี พ.ร.ก.ซอฟท์โลน 3.5 แสนล้านบาท ดูแลผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ยังมีพรบ.รักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงของเศรษฐกิจ วงเงินอีก 4 แสนล้านบาท รวมทั้งหมด มีวงเงิน 1.25 ล้านล้านบาท ได้สำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถก้าวพ้นผ่านนี้ไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 2 เดือน แต่การระบาดในระลอกใหม่ ยอมรับว่า ยังไม่แน่นอนแต่เชื่อว่า ภายในไตรมาส 2 น่าจะควบคุมได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคเอกชนและประชาชนด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทไม่ได้เตรียมไว้ใช้ถึงเดือนก.ค. แต่เป็นการเตรียมสำหรับอนาคตในปี 65 ในกรณีที่อาจเกิดการระบาดในระลอกใหม่ขึ้นมา เพราะเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ใช้ในปี 64 มีการเตรียมไว้แล้ว

ส่วนพ.ร.ก.กู้เงินที่ลดจาก 7 แสนล้านบาท มาที่ 5 แสนล้านบาท นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า อยู่ในระดับที่น่าจะเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในขณะนี้ ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่า การแพร่ระบาดอยู่ในช่วงท้ายๆ เพราะเริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนแล้ว

“เราเจอกับสิ่งที่ไม่แน่นอนซึ่งเกิดขึ้นทั้งโลก และเรามองว่า โอกาสที่จะควบคุมในระดับสากลมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็ไม่ประมาท จึงต้องเตรียมเงินกู้ก้อนนี้ไว้”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า โครงการภายใต้พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท 2.แผนงานด้านเยียวยาประชาชน วงเงิน 6.85 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยเหลือประชาชนไปแล้วประมาณ 40 ล้านคน และ 3.แผนงานด้านเยียวเศรษฐกิจ วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 1.25 แสนล้านบาท คงเหลืออยู่ประมาณ 1.44 แสนล้านบาท

โดยมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปในช่วงครึ่งหลังของปี (ก.ค.-ธ.ค.) 4 โครงการ วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า และถือว่า วงเงิน 1 ล้านล้านบาทมีแผนการใช้จ่ายครบถ้วน และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 79.88 %

“ในขณะนี้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งในส่วนที่อนุมัติไปแล้วและในส่วนที่กำลังนำเข้าคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าได้มีการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว”

นายดนุชา กล่าว

และจากวงเงินกู้ที่มีอยู่ มีการจ้างงานไปแล้ว 163,628 คน มีการฝึกอบรมทักษะเกษตรกรไปแล้วประมาณ 90,000 คน ซึ่งหากดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีการเบิกจ่ายวงเงินที่มีการอนุมัติไปแล้ว 817,000 ล้านบาท น่าจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 2%

เลขาสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีมาตรการเพิ่มเติมกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อให้การบริโภคกลับสู่ปกติ และอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือไปยังกลุ่มเอสเอ็มอี หรือร้านอาหารต่างๆที่ได้รับผลกระทบจาก WFH เพราะบางส่วนเข้าไม่ถึงซอฟท์โลนของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทางรัฐบาลคงจะมีการมีการหารือกับธปท.ว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง รวมถึงต้องมีการเตรียมวงเงินเพื่อช่วยการรักษาระดับการจ้างงาน และต้องหาโครงการเพื่อรองรับนักศึกษาจบใหม่ด้วย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top