พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนให้กับประชาชนที่จะไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายให้ได้วันละ 50,000 โดส
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวว่า ระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” เป็นการลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องโรคโควิด-19 ในส่วนของแต่ละจังหวัด นอกเหนือจากการลงทะเบียนฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังของภาครัฐ โดยจะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน
โดยระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” จะเปิดให้ประชาชนอายุ 18-59 ปี ที่มีทะเบียนบ้านหรือประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.64 เวลา 12.00 น.และเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิ.ย.64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ได้แก่ ผ่าน Call Center 1516, ผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com, แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”, ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน
อย่างไรก็ตาม การให้บริการฉีดวัคซีนยังเป็นไปตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ โดย กทม.จะได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่ 7 มิ.ย.64
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ประชาชนสามารถลงทะเบียน www.ไทยร่วมใจ.com หรือผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยจะเปิดให้ประชาชนผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี ซึ่งไม่ได้เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com โดยการลงทะเบียนแยกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 ได้แก่ กลุ่มที่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ โดยมีแอปฯ “เป๋าตัง” จะมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในระบบแล้วจึงไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่ สามารถแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนและรอรับ SMS ยืนยันได้รับการจัดสรรวัคซีน แต่หากลบแอปฯ เป๋าตังไปแล้ว ให้ดำเนินการนัดหมายผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com
- กลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่ “ไม่เคย” เข้าร่วมโครงการภาครัฐ สามารถลงทะเบียนบนเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com และรอรับ SMS แจ้งผลการจัดสรรวัคซีน และนัดหมายวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีน ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com หรือ แอปฯ เป๋าตัง ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้
- กลุ่มที่ 3 ได้แก่ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถให้บุคคลในครอบครัวลงทะเบียนแทนได้ ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ลงทะเบียนแทน โดยระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน หรือ สามารถลงทะเบียนที่ร้านค้าสะดวกซื้อ ณ ร้าน 7-eleven, Family Mart, Tops Daily และ mini Big C ซึ่งเปิดเป็นจุดรับลงทะเบียน ช่วงเวลา 08.30 – 18.00 น.
ทั้งนี้ประชาชนสามารถเลือกรับวัคซีนได้ที่จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล 25 จุด ที่กรุงเทพมหานครร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล มีจำนวน 25 จุด
ดังนี้ 1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2. เดอะสตรีท รัชดา 3. เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว 4. ศูนย์ฉีดวัคซีน SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ 5. ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ 6. มหาวิทยาลัยศรีปทุม (ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ) 7. เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ 8. ไทยพีบีเอส 9. สามย่านมิตรทาวน์ 10. เอเชียทีค
11.ทรูดิจิทัลปาร์ค 12.ธัญญาพาร์ค 13. เซ็นทรัลเวิลด์ 14. สยามพารากอน 15. โลตัส พระราม 4 16. เดอะเอ็มโพเรียม 17. เดอะมอลล์ บางกะปี 18. โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง 19. โลตัส มีนบุรี 20. บิ๊กซี ร่มเกล้า 21. ไอคอนสยาม 22. เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า 23. เดอะมอลล์ บางแค 24. บิ๊กซีบางบอน และ 25. PTT Station พระราม 2 ขาออก (กม.12)
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ยืนยันว่า ผู้พัฒนาระบบลงทะเบียนครั้งนี้มีประสบการณ์ในการจัดทำระบบจองขนาด 20 ล้านคนภายในสองวันมาแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ทำให้มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาระบบล่มอย่างแน่นอน และการดำเนินการครั้งนี้จะช่วยเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการพัฒนาระบบ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” กทม.ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) , ธนาคารกรุงไทย (BTB) , บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด, เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มเซ็นทรัล, บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์ เซนเตอร์ (BIGC) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) , บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, KTB, www.ไทยร่วมใจ.com, กทม., กรุงเทพมหานคร, ฉีดวัคซีน, ธนาคารกรุงไทย, ผยง ศรีวณิช, พงศกร ขวัญเมือง, ลงทะเบียน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อัศวิน ขวัญเมือง, เป๋าตัง, แอปพลิเคชั่น, โควิด-19