นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประมาณการเศรษฐกิจระยะสั้น และภาพเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า “EEC Macroeconomic Forum” ว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2567) ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท แต่ด้วยข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ การเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ เป็นต้น
“หากมองไป 5 ปีข้างหน้า ถ้าจะไป 4.5% ประเด็นเรื่องเงินคือสิ่งสำคัญ ฉะนั้นต้องเร่งสร้างเงินออม สร้างกลไกให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าการเติบโตของ GDP น่าจะทำได้เพียง 2.5-3.5% ต่อปีเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยการที่จะได้ 4.5% อาจต้องออกแรงค่อนข้างมาก เพราะภาครัฐมีข้อจำกัด”
นายสุวิทย์ กล่าว
สิ่งสำคัญของแผนฯ 13 (หลังโควิด-19) คือ การพัฒนาแรงงานให้พร้อมรับการลงทุนหลังโควิด-19 และการเพิ่มค่าตอบแทนแรงงานให้เหมาะสมกับ Productivity ซึ่งจะนำไปสู่การออมเงินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต, การลงทุนของภาครัฐ จะต้องเน้นไปที่สาธารณูปโภคที่รองรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และโอกาสในการหารายได้ รวมถึงเร่งผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ก้าวทัน Global mega trend, ผลิตภาพรวม มุ่งเน้น R&D หรือนวัตกรรมที่เพิ่มเป็น Demand Driver จากภาคธุรกิจและประชาชน, R&D Bypass, นวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำ และลดกฎระเบียบ สร้างกติกาใหม่ที่เอื้อต่อการต่อยอดพัฒนา
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับการผนึกกำลังของ 4 นโยบาย ประกอบด้วย นโยบายการจัดหาและการกระจายวัคซีน, นโยบายการคลัง, นโยบายการเงิน และนโนบายการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงิน
ทั้งนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้เร็วที่สุดถือเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรกของการฟื้นเศรษฐกิจไทย
- กรณีแรกหากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในปีนี้ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาส 1/65 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปี 64 จะขยายตัวได้ 2% และ 4.7% ในปี 65
- กรณีที่ 2 หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในไตรมาส 3/65 แต่ GDP จะขยายตัวได้เพียง 1.5% ในปีนี้ และ 2.8% ในปี 65
- กรณีสุดท้ายหากจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่านั้น การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะล่าช้าเป็นไตรมาส 4/65 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP ให้ขยายตัวได้ 1% ในปีนี้และ 1.1% ในปี 65
ขณะที่นโยบายการคลังของภาครัฐ รวมถึงนโยบายทางด้านการเงิน จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ลงได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านสินเชื่อ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารออมสิน, สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน, Soft Loans ธนาคารแห่งประเทศไทย, ด้านภาษี เช่น เพิ่มเพดานหักลดหย่อนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และอื่นๆ เช่น จัดหาวัคซีนโควิด-19 รวมถึงเงินโอนบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50%
ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงิน จะช่วยคลายความกังวล อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2/64 ให้มีแนวโน้มลดต่ำลง และช่วยลดการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจากโควิด-19
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญ 3 ด้าน ที่ต้องเผชิญ ได้แก่
- การเติบโตที่ไม่สมดุลเชิงพื้นที่ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 เมืองหลักที่เป็นเมืองเศรษฐกิจมีเพียง 15 จังหวัด คิดเป็น 70% ของ GDP ประเทศ เมืองรองยังคงเป็นจังหวัดที่ยากจน โดยโควิด-19 ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับด้าน (Reverse trend) ย้ายออกเพราะตกงาน และย้ายเข้าเมืองหลวง เพื่อหางานทำ
- ความยากจนเหลื่อมล้ำเรื้อรัง โควิด-19 ทำให้คนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 15 ล้านคน เป็นคนไทย 1.5 ล้านคนจากฐานคนจนเดิม 4.3 ล้านคน ส่งให้ผลคนจนในไทยเพิ่มขึ้นรวม 5.8 ล้านคน (เท่ากับจำนวนคนจนปี 59)
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มรูปแบบ ปัจจุบันประเทศไทยมี 30 จังหวัด ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว โดยสหประชาชาติประเมินว่า ในปีหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged society) และในปี 73 จะเข้าสู่อย่างเต็มที่ (Super aged society) และในอีก 10 ปี ประชากรและวัยแรงงานของไทยจะลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาระการคลัง และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะมีศักยภาพลดลง
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า มาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ และประมาณการความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง จากมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ ฯ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติโครงการแล้ว 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 83% ของวงเงิน และครอบคลุมด้านสาธารณสุข ลดผลกระทบระยะสั้นและฟื้นฟูระยะยาว
ด้านหนี้สาธารณะของไทย ณ สิ้นเดือนมี.ค.64 อยู่ที่ระดับ 54.3% ต่อ GDP ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์กรอบวินัยการเงินการคลังที่ไม่เกิน 60% และอยู่ในวิสัยที่ประเทศไทยเคยเผชิญจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 ด้านการก่อหนี้ภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินในรูปแบบเงินบาท ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ โดยการกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้านบาท อาจส่งผลต่อหนี้สาธารณะขั้นต้น (Gross debt) เกินกว่า 60% ต่อ GDP เล็กน้อย แต่จะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อ GDP เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (Bond) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 64)
Tags: GDP, กระทรวงการคลัง, ดอน นาครทรรพ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พงศ์นคร โภชากรณ์, พิสิทธิ์ พัวพันธ์, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ, เศรษฐกิจไทย