อดีต รมว.คลัง ยื่นศาลปกครองวินิจฉัย พ.ร.ก.กู้ 7 แสนลบ.ตั้งอำนาจเบ็ดเสร็จ-ใช้จ่ายหละหลวม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในฐานะตัวแทนกลุ่มคนไทยไม่ทน เข้ายื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อวินิจฉัยกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .. เพื่อกู้เงินในวงเงิน 7 แสนล้านบาท เนื่องจากมีความห่วงใยในหลักการบริหารการคลังของประเทศ

“พ.ร.ก.ตรงนี้ตัดทอนองคาพยพที่จะกำกับตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสเพื่อให้เกิดความรัดกุมของหลักวินัยการเงินการคลังออกไป ปรากฎว่ายกร่างอำนาจใหม่เพื่อทำหน้าที่นี้เพียง 2 มาตรา กระดาษเพียง 2 แผ่น ใช้คนที่มีอำนาจในการดำเนินกรเพียงหยิบมือเดียว โดยตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จในลักษณะการคัดเลือกโครงการ อนุมัติ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ หลังจากนั้นแล้วก็มีอำนาจในการกำกับโครงการ แล้วก็มีอำนาจในการออกระเบียบ ลักษณะอย่างนี้เป็นการใช้จ่ายที่หละลวมไม่ตรงกับหลักวินัยการเงินการคลัง”นายธีระชัย กล่าว

ก่อนหน้านี้นายธีระชัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะกู้เงิน 7 แสนล้านบาท เพราะตระหนักว่าประชาชนมีความเดือดร้อน และประชาชนจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการแก้ปัญหาโควิด-19 อีกมาก แต่เห็นว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐ จำเป็นต้องมีการควบคุมตรวจสอบตามหลักวินัยการเงินการคลัง

“ผมขอย้ำว่าไม่คัดค้านการที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะกู้เงิน แต่ขอแนะนำให้แก้ไขร่าง พ.ร.ก. โดยขอให้ใช้หลักการเดียวกับ พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ที่กู้เงินเพื่อโครงการไทยเข้มแข็ง และ พ.ร.ก. สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ที่กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งทั้งสองกรณีกำหนดให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามครรลองปกติ อันเป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลัง

ผมเห็นว่า การที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ร่าง พ.ร.ก.ที่บัญญัติวิธีใช้จ่ายโดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ คัดเลือกโครงการเอง กำกับโครงการเอง กำหนดระเบียบบริหารโครงการเอง นั้น ทำให้มีช่องโหว่หละหลวม ขาดการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม ไม่ตรงหลักวินัยการเงินการคลัง จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข” อดีตรมว.คลัง กล่าว

อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ซึ่งกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น มีบทบัญญัติที่นอกเหนือจากเรื่องการกู้เงิน โดยได้บรรจุกระบวนการใช้จ่ายเงินของรัฐเข้าไว้ด้วย โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จครบวงจรเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ทำให้การใช้จ่ายเงินของรัฐมีความหละหลวม ไม่มีขบวนการตรวจสอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อันเป็นการละเมิดหลักการวินัยการเงินการคลัง และเป็นที่เชื่อได้ว่า พ.ร.ก. ฉบับใหม่ก็จะมีข้อกำหนดเช่นเดียวกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top