ผลวิจัยญี่ปุ่นชี้แอนติบอดีต้านโควิดจะอ่อนแอใน 6-12 เดือน จำเป็นต้องฉีดวัคซีน

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยโยโกฮามาเปิดเผยผลวิจัยบ่งชี้ว่า แอนติบอดีในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น อาจจะอ่อนแอลงในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ผลวิจัยบ่งชี้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยนั้น ยังคงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์จากอังกฤษ, แอฟริกาใต้, บราซิล และอินเดีย

ผลการวิจัยดังกล่าวซึ่งมีผู้เข้าร่วม 250 คนที่มีอายุระหว่าง 21-78 ปีและเป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย.ปีที่แล้วนั้น พบว่า 97% ของผู้ร่วมวิจัยที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยนั้น มีแอนติบอดีในการต้านทานเชื้อโควิด-19 ได้ราว 6 เดือนหลังจากติดเชื้อ และในเวลา 1 ปีต่อมาพบว่า 96% ของผู้ร่วมวิจัยก็ยังคงมีแอนติบอดีในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

ส่วนผู้ร่วมวิจัยที่มีอาการป่วยรุนแรงทั้งหมดนั้นก็ยังคงมีแอนติบอดีในการต้านทานไวรัสโควิด-19 หลังจากเวลาผ่านไป 1 ปี

ผลการวิจัยบ่งชี้ด้วยว่า ผู้ร่วมวิจัย 69% ที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยนั้น มีแอนติบอดีที่สามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ได้ในเวลา 6 เดือนต่อมา, ผู้ร่วมวิจัย 75% มีแอนติบอดีที่สามารถต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย, 81% มีแอนติบอดีที่สามารถต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์บราซิล และ 85% มีแอนติบอดีที่สามารถต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษ และในระยะเวลากว่า 1 ปีต่อมานั้น จำนวนผู้ร่วมวิจัยที่มีแอนติบอดีในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ นั้นมีเปอร์เซนต์ลดลงเพียงเล็กน้อย

ส่วนระดับแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงนั้นได้อ่อนแอลงเพียงเล็กน้อยในการต้านทานไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในระยะเวลาหนึ่งปี

นอกจากนี้ ในระยะเวลา 12 เดือนหลังจากติดเชื้อโควิด-19 นั้น ผลวิจัยพบว่า อย่างน้อย 90% ของผู้ติดเชื้อเหล่านั้นมีแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสกัดกั้นการติดเชื้อจากไวรัสโควิดใดๆ ใน 4 สายพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น

ทีมวิจัยระบุว่า ผลการวิจัยบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีอาการป่วยโควิดไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลยนั้น จะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของแอนติบอดีได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการป่วยรุนแรงมากกว่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top