นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในแคมป์คนงานหลักสี่มีการตรวจพบคนงานติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย จำนวน 15 ราย ซึ่งในขณะนี้อยู่การดูแลในโรงพยาบาลเป็นอย่างดี และมีการส่งทีมสอบสวนโรคเข้าไปดูแลควบคุมป้องกันการติดเชื้อต่อไป
โฆษก ศบค. ยอมรับว่า สายพันธุ์อินเดียทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้รับทราบเรื่องนี้แล้วและได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กลุ่มคนงานก่อสร้างในแคมป์ที่หลักสี่ พบว่ามี 15 รายที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย โดยจำนวนนี้เป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน อายุเฉลี่ยที่ 46 ปี ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดนี้อาการยังน้อย และได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกคนแล้ว
“ในจำนวน 15 ตัวอย่างนี้ เป็นคนงานในแคมป์ก่อสร้าง 12 คน ส่วนอีก 3 คนเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน ดังนั้นต้องมีการสอบสวนควบคุมโรค และเร่งติดตามผู้สัมผัสเพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นต่อไป”
นพ.โอภาสระบุ
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลจากหน่วยงานควบคุมโรคของประเทศอังกฤษ ที่ระบุถึงไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่มีการระบาดอยู่ในประเทศอังกฤษด้วยว่า การแพร่กระจายเชื้อของไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดียไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนความรุนแรงของโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ นอกจากนี้ ยังพบว่าสายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนหลักที่เราใช้อยู่ โดยเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า ยังสามารถใช้ป้องกันสายพันธุ์อินเดียและสายพันธุ์อังกฤษได้
“ตัวอย่างที่เห็นอย่างดี คือ ในอังกฤษที่ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ปรากฎว่าการระบาดลดน้อยลง ทั้งๆ ที่ประเทศอังกฤษมีการระบาดทั้งสายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดีย”
นพ.โอภาสระบุ
พร้อมย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดทีมลงไปสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการควบคุมโรค และติดตามผู้สัมผัส รวมทั้งการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และสนับสนุนการรักษาพยาบาลในจุดต่างๆ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเชื้อมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดจากดั้งเดิมที่เป็นไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น จากประเทศจีน แต่สายพันธุ์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ ต้องเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดง่ายขึ้น ทำให้ความรุนแรงของโรคมีมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น และทำให้การใช้วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ หรือป้องกันโรคได้ไม่ดี
“สายพันธุ์ที่ทั่วโลกพูดถึง และจับตาดู คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์แอฟริกาใต้…สายพันธุ์ที่ระบาดในบ้านเราขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ มีการแพร่กระจายเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของจีน ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ที่ขณะนี้กำลังระบาดมากในอินเดีย ก็มีการค้นพบหลายประเทศ และที่ค้นพบมากก็ที่อังกฤษ รวมทั้งรอบบ้านเรา เช่น มาเลเซีย และล่าสุดที่สนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ ส่วนที่เมียนมา และกัมพูชา แม้จะยังมีการถอดรหัสพันธุกรรมได้ค่อนข้างจำกัด แต่เชื่อได้ว่าอาจจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่แล้ว ดังนั้นจึงทำให้มีโอกาสที่จะหลุดรอดเข้ามา และระบาดในประเทศไทยได้”
นพ.โอภาส ระบุ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่ส่งมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 80 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) จำนวน 36 ราย เป็นคนไทย 21 ราย คนงานชาวพม่า 10 ราย และกัมพูชา 5 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) และยังมีตัวอย่างจากการค้นหาเชิงรุก จากพื้นที่อื่นใน กทม.อีก 2 แห่ง แต่พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย เชื้อที่พบจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ 87% เพิ่งตรวจพบสายพันธุ์อินเดีย และจะได้ขยายการนำตัวอย่างจากคลัสเตอร์อื่นๆ มาตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการกระจายตัวต่อไป
จากข้อมูล ของ Public Health England พบว่าสายพันธุ์อินเดียมีการแพร่กระจายได้ค่อนข้างรวดเร็วคล้ายกับสายพันธุ์อังกฤษแต่ยังไม่พบหลักฐานที่มีผลต่อความรุนแรง หรืออัตราการเสียชีวิตและยังตอบสนองต่อวัคซีนได้อยู่ จึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่สามารถทำการตรวจรหัสพันธุกรรมได้ จะร่วมมือกันเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern) คือสายพันธุ์อังกฤษ, อินเดีย, อาฟริกาใต้ และบราซิลต่อไป
ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจรหัสพันธุกรรม แบบทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) ได้สัปดาห์ละ 384 ตัวอย่าง ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่ WHO ต้องการสัปดาห์ละ 150 ตัวอย่าง โดยจะเก็บมาจากทุกส่วนของประเทศ และกรณีต้องการทราบผลเร็วก็สามารถตรวจแบบ Targeted Sequencing ซึ่งใช้เวลา 1-2 วันอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 64)