สัมภาษณ์พิเศษ: PRM เปิดบิ๊กสตอรี่บนความคุ้มค่าซื้อกิจการกองเรือ

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะสร้างความบอบช้ำให้กับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจอีกหลายประเทศ แต่จากแนวทางกระจายฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่กำลังเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นตัวแปรสนับสนุนธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศที่พร้อมจะเร่งตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป

บมจ.พริมา มารีน (PRM) จัดเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว ทางเรือให้กับลูกค้าตามความต้องการอย่างครบวงจร รวมถึงการให้บริการเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล และการบริหารจัดการเรือ โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทธุรกิจหลัก ดังนี้

  1. ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว (ธุรกิจเรือขนส่งฯ)
  2. ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU)
  3. ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore)
  4. ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (ธุรกิจบริหารเรือ)

ปี 64 คาดผลงานโต 10% ลุ้นโควิดคลี่คลายกระตุ้นดีมานด์

นายวิริทธิ์พล จุไรสินธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีเหลวทางเรือรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า แม้ว่าปี 63 จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 กระทบกับความต้องการลดลงในกลุ่มน้ำมันเครื่องบิน Jet A-1 ลดลง 20% จากอุตสาหกรรมการบินต้องหยุดชะงักตามมาตราการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ผลประกอบการของ PRM ในปี 63 ยังเติบโตทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยได้รับอานิสงส์จากธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ (FSU) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาตลาดโลกตามความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบัน PRM มีขนาดกองเรือทั้งหมดจำนวน 40 ลำ ให้บริการขนส่งน้ำมันในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย เรือกักเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ FSU บริการในประเทศ 1 ลำ และมาเลเซีย 8 ลำ ส่วนเรือประเภท FSO ปัจจุบันมีอยู่ 1 ลำเป็นเหมือนโรงแรมลอยน้ำทั้งหมด 300 ห้อง และเรือขนส่ง 30 ลำ กลุ่มลูกค้าเป็นผู้ผลิตและค้าน้ำมันรายใหญ่สัญชาติไทยและบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ

สำหรับแนวโน้มปี 64 เบื้องต้นตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตประมาณ 10% บริษัทเชื่อว่าจะเติบโตต่อเนื่องและฟื้นตัวมากกว่าปี 63 เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศกำลังส่งสัญญาณผ่อนคลายล็อกดาวน์ และหากสามารถผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ โดยเฉพาะโซนท่องเที่ยวจังหวัดภาคใต้ น่าจะทำให้ปริมาณขนส่งน้ำมัน Jet A-1 ที่ใช้กับเครื่องบินพลิกกลับเติบโตอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การให้บริการเรือประเภท FSU แม้จะเป็นรายได้หลัก แต่คงต้องเฝ้าติดตามตัวแปรที่มีผลกระทบ คือ ดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงต้นทุนน้ำมันที่อาจจะเพิ่มขึ้นกระทบค่าใช้จ่าย แต่บริษัทมองว่าทิศทางราคาน้ำมันไม่น่าจะสูงไปกว่านี้มากนัก นอกจากนี้ บริษัทมีแนวทางมุ่งบริหารความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเพราะรายได้กว่า 50% เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดบริษัทมีการทำประกันป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้อยู่แล้ว

ซื้อกิจการ “ไทยออยล์มารีน” แบกรับผลขาดทุน เชื่อคุ้มค่าระยะยาว

ส่วนกรณีการเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ภูริช มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PRM เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บจ.ไทยออยล์มารีน (TM) จาก บมจ.ไทยออยล์ (TOP) แม้จะมีกระแสการวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านลบช่วงสั้นเนื่องจาก TM มีผลประกอบการที่ยังขาดทุนปี 63 ราว 20 ล้านบาท และปี 62 ขาดทุน 216 ล้านบาท

ประเด็นดังกล่าว นายวิริทธิ์พล กล่าวยืนยันว่า การซื้อกิจการครั้งนี้มีความคุ้มค่าและจะสามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรให้บริษัทในระยะยาว เนื่องจากมีขนาดกองเรือที่ใหญ่และมีสัญญาของลูกค้าเข้ามาด้วย ประกอบด้วย เรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีทางทะเลรวม 5 ลำ แบ่งเป็น 4 ลำมีสัญญากับลูกค้าระยะยาว 5 ปี ส่วนอีก 1 ลำเป็นการให้บริการในราคาต่างประเทศ และอีก 13 ลำเป็นเรือประเภท “คูโบ้ท” เป็นเรือขนาดเล็กขนส่งผู้โดยสารหรือขนส่งสินค้าไปที่แท่นขุดเจาะ ซึ่งจะนำเข้ามารวมเป็นกองเรือของบริษัทเพื่อให้เกิด Synergy กันมีรายได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะส่งผลบวกกับผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะการเติบโตของศักยภาพทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ

“เมื่อดีลเสร็จในไตรมาส 2/64 เราก็พร้อมลุยเลย เพราะเราไม่ไหว้ครู ตอนนี้เรามีการประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจหลายรูปแบบ และด้วยขนาดของกองเรือที่ใหญ่ขึ้นประกอบกับความชำนาญด้านการบริหารจัดการทางเรือขนส่งอยู่แล้ว การซื้อกิจการครั้งนี้ที่ได้ทั้งทีมและทรัพย์สินเป็นเรือเข้ามาเสริมกองเรือบวกกับสัญญากับลูกค้าระยะยาว

ข้อดีคือเราไม่ต้องวิ่งไปประมูลช่วยเพิ่มความมั่นคงของรายได้บริษัท แม้จะมีความเห็นว่าจะซื้อกิจการขาดทุนเข้ามา แต่เรามองเห็นถึงความคุ้มค่าระยะยาวแน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนออกมานั้นคือการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินหากไม่ดีสถาบันการเงินคงไม่น่าจะส่งเสริม ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุนอย่างแน่นอน”

นายวิริทธิ์พล กล่าว

และจากการรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองที่ดีต่ออนาคต PRM บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ภายหลังจาก PRM รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 400 ล้านบาท เติบโต 50% YoY และ ลดลง 3% QoQ แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดถึง 20% เนื่องจากธุรกิจเรือประเภท FSU มีค่าเช่าที่สูงกว่าปีก่อนจากการปรับขึ้นค่าเช่าเรือ ส่วนกำไรลดลง QoQ เกิดจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่ยังได้ผลบวกชดเชยจากธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันในประเทศที่ดีขึ้น จากการบริหารเส้นทางการขนส่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิปี 64 อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท คาดเติบโต 4% YoY และเร่งตัวขึ้นในปี 65 และอาจมีอัพไซด์เพิ่มจากดีลซื้อกิจการ TM ที่อาจจะกลับฟื้นตัวได้ดีขึ้น แม้ว่าในปี 63 TM จะยังมีผลขาดทุน 20 ล้านบาทก็ตาม ขณะที่ธุรกิจหลักจากการให้บริการเรือ FSU ที่จะยังคงค่าเช่าเรือในระดับสูงได้ตลอดทั้งปี และเรือ international trading กลับมาให้บริการได้เต็มที่ หลังจากเข้าซ่อมบำรุงในปลายปี 2563 และได้สัญญาเช่าระยะยาวใหม่ในช่วงเดือน ก.พ.64 ขณะที่ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันในประเทศจะทยอยดีขึ้นจากการบริหารเส้นทางเดินเรือได้ดีขึ้น รวมถึงจะมีการเพิ่มการขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันใส (clean petroleum product) ฝ่ายวิจัยฯประเมินราคาเป้าหมายหุ้น PRM อยู่ที่ 10.00 บาทภายใต้สมมติฐาน P/E ที่ 15.5 เท่า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top