นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้บังคับมานานเพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานทั้งในโซเชียลมีเดีย และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ
นอกจากนี้ คณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. …. และแนวทางการกำกับดูแลและการลงทะเบียนผู้ใช้งาน Social Media โดยดูจากแนวทางของต่างประเทศเป็นต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ และจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับสรุปผลการดำเนินงานด้านการป้องกันปราบปรามของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลฯ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ศปอส.ตร. (PCT) ในช่วง 2 เดือนนี้ (เม.ย.- พ.ค. 64) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง (Verify) ทั้งหมดจำนวน 683 เรื่อง ได้รับการตรวจสอบแล้ว 348 เรื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว 160 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 121 เรื่อง ข่าวจริง 15 เรื่อง บิดเบือน 24 เรื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปิดกั้น จำนวน 16 คำร้อง 349 ยูอาร์แอล ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว 4 คำร้อง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 12 เรื่อง 256 ยูอาร์แอล อีกทั้ง ได้ดำเนินการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นข้อมูลตามคำสั่งศาล 35 คำสั่ง 726 ยูอาร์แอล และแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 27 แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 321 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 155 ยูอาร์แอล
ขณะที่ (ศปอส.ตร.) ได้ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 4 เรื่อง 6 รายและดำเนินการตักเตือนให้ลบโพสต์และแก้ไขข่าว โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำนวน 4 เรื่อง 12 ราย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ได้ดำเนินการสืบสวนพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บัญชี Social Media ที่ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับข่าวปลอม เรื่อง โรงพยาบาลเมดพาร์ค เปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด -19 ของ Moderna จำนวน 11 กรณี ระบุตัวตนได้ 5 ราย อยู่ระหว่างสืบสวน (อวาตาร) 6 ราย และกรณีบิดเบือนวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 25 กรณี ระบุตัวตนได้ 19 ราย และอยู่ระหว่างสืบสวน 6 ราย
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดดีอีเอส กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีแนวทางให้ทุกกระทรวง จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงขึ้นโดยด่วน เพื่อติดตาม ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างรวดเร็ว และเพื่อประสานการปฏิบัติกับคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมฯ กับกระทรวงดิจิทัลฯ อย่างใกล้ชิด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำชับให้ กระทรวง/ส่วนราชการ ที่ได้รับความเสียหายจากการให้ข้อมูล/ข่าวสารที่เป็นเท็จ/บิดเบือน รีบดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ตำรวจเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยเร็ว รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติ เพื่อประกอบการประเมินผลการดำเนินงานตามวงรอบที่เหมาะสมต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ค. 64)
Tags: FakeNews, Social Media, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ข่าวปลอม, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ดีอีเอส, สื่อออนไลน์, อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย, เฟคนิวส์