รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วานนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการพิจารณาให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม ภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเห็นว่า การระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบ ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ากรอบวงเงินที่เสนอนี้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยปี 64 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดไว้อีกประมาณ 1.5% อีกทั้งการดำเนินการกู้เงินของรัฐบาลภายใต้ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ เมื่อรวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะส่งผลให้สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9,381,428 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.56% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP
รายงานข่าว ระบุถึงความจำเป็นที่ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาทว่า เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ฉบับเดิมที่กำหนดให้มีการกู้เงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.64 เหลือวงเงินเพียง 1.65 หมื่นล้านบาท ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังยืดเยื้อ และมีการระบาดระลอกใหม่ช่วง ม.ค.-พ.ค. ซึ่งแม้จะมีวัคซีนเข้ามา แต่ก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะควบคุมการระบาดได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะเหลือเพียง 3.2 ล้านคน ลดลงจากเดิม 5 ล้านคน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 2.3% ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 2.8%
นอกจากนี้ การระบาดยังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2563 ต่ำกว่าประมาณการ 3.43 แสนล้านบาท อีกทั้งในปี 2564 การจัดเก็บรายได้ยังคงได้รับผลกระทบเช่นกัน
ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเห็นควรกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 7 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ สศค.ประมาณการไว้อีก 1.5% โดยมีกรอบการใช้จ่ายคือ 1.จัดหาวัคซีน 3 หมื่นล้านบาท 2.เยียวยาผลกระทบ 4 แสนล้านบาท และ 3.ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 2.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายเร่งด่วนต่อไป และมอบหมายให้สำนักงบประมาณตั้งงบประมาณปี 2565 เพื่อชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน การออกและการจัดการตราสารหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่กระทรวงการคลังในเช้านี้ว่า ได้สอบถามกรณีดังกล่าวกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ถึงรายละเอียดในการเสนอ ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวในกับที่ประชุมครม. ซึ่งมีการพิจารณาเป็นวาระลับ โดย รมว.คลัง ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องดังกล่าว และได้รีบเดินเข้าลิฟท์เพื่อขึ้นไปห้องทำงาน เช่นเดียวกับนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกล่าวเพียงว่าขอยังไม่ให้รายละเอียด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 64)
Tags: GDP, กระทรวงการคลัง, ครม., จีดีพี, พ.ร.ก.กู้เงิน, เศรษฐกิจไทย