นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี โดยเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้การลงทุนของประเทศในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ครอบคลุมการลงทุนจากทุกแหล่งเงิน และสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย
1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะมีโครงการตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 จำนวน 10 โครงการ โดยประมาณการมูลค่ารวม 260,024.08 ล้านบาท และประมาณการวงเงินลงทุนที่คาดว่าจะลงทุนในปี 2565 รวม 52,320.63 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณการแผนการใช้จ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย สำหรับการลงทุนโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนบน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,983.98 ล้านบาท
3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง 11 หน่วยรับงบประมาณ 109 รายการ วงเงินรวม 91,705.5119 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วว่าเป็นรายการลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนเพื่อการวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิตและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินการ ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมและสามารถใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาเร่งรัดดำเนินการตามแผนการลงทุนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และแผนการลงทุนภายใต้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย พร้อมให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ พิจารณาโครงการรายจ่ายลงทุนเพื่อใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ซึ่งแนวทางดังกล่าว ยึดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้ จำนวน 700,000 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)
Tags: กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน, การลงทุน, ครม., งบประมาณประจำปี, งบประมาณรายจ่ายลงทุน, สคร., สศช., อนุชา บูรพชัยศรี, เอกชน