ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 จะขยายตัวอย่างช้า ๆ ที่ 2.0% โดยมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ต้องจับตา ได้แก่ 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ที่อาจนานกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 3 เดือน เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ปรับดีขึ้น รวมถึงการระบาดรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ยังมีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ และ 2) ความล่าช้าในการฉีดวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจมีไม่สูงพอ โดยเฉพาะกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่
“EIC จะติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้” บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ EIC คาดว่า ในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะทรุดตัวชัดเจนจากการระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. เป็นต้นมา โดยแม้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาส 2/64 แต่ก็เกิดจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนที่มีการปิดเมืองทั่วโลกเป็นสำคัญ โดยหากเทียบกับการฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้า คาดว่าเศรษฐกิจจะทรุดตัวชัดเจน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในส่วนที่เป็น face-to-face services เช่น โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ นอกจากนี้ ผลกระทบการระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้น ยังรวมไปถึงการสร้างแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกกว่าเดิม ทั้งในส่วนของการเปิดปิดกิจการ และภาวะตลาดแรงงานที่เป็นปัญหามาก่อนหน้า
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากภาคส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง ประกอบกับแผลเป็นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า
โดยภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วที่จะมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนระดับสูง รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ในส่วนของเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี ผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐเพิ่มเติม ซึ่งมีวงเงินตามแผนเบื้องต้นกว่า 1.4 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาคท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจของไทยยังซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพียง 1.5 ล้านคนในปีนี้ นอกจากนี้ ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ได้แก่ การเปิดปิดกิจการที่อาจปรับแย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมออมเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2564 หดตัวลงที่ -2.6% หลังจากหดตัว -4.2% ในไตรมาส 4/63 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ได้รับอานิสงส์จากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่มีการอนุมัติงบประมาณล่าช้า ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังซบเซาต่อเนื่อง
ส่วนการฟื้นตัวการบริโภคภาคเอกชน เกิดการสะดุดจากการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงต้นปี ขณะที่เศรษฐกิจด้านการผลิต (Production approah) พบว่ามีการฟื้นตัวแตกต่างกันในหลายสาขา (uneven) โดยภาคเกษตรปรับดีขึ้นตามปริมาณผลผลิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)
Tags: EIC, SCBEIC, ธนาคารไทยพาณิชย์, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย