สหภาพ THAI ยื่นร้องตรวจสอบอำนาจโยกย้ายพนักงานของ “ชาญศิลป์”

รายงานข่าวจากสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) เปิดเผยว่า นายศิริพงส์ ศุกระกาญจนาโชค ประธานสหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้รับผิดชอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย (THAI) เพื่อขอตรวจสอบการใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ในการแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร และการออกประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ THAI ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่

โดยระบุว่า ตามที่นายชาญศิลป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ THAI ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ออกคำสั่งบริษัทฯ แต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร จัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการปรับลดจำนวนพนักงาน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการอ้างสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน รวมทั้งออกประกาศให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่ โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 (Relaunch ครั้งที่ 1-3)

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.64 สหภาพฯ ได้มีหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท เพื่อขอทราบอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร และการออกคำสั่ง ระเบียบของนายชาญศิลป์ ต่อมาวันที่ 11 พ.ค.64 นายพีระพันธุ์ ได้ตอบข้อหารือดังกล่าวว่าเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งผู้ทำแผนแล้ว อำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารบริษัทลูกหนี้ รวมทั้งบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นทั้งหมดจะระงับลงและตกมาอยู่กับผู้ทำแผน นับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนทันที

และกรณีนี้มีการแต่งตั้งผู้ทำแผน 7 คน การบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของ THAI จะต้องเป็นไปตามมติเอกฉันท์ของคณะผู้ทำแผน มิใช่มติเสียงข้างมาก และเดิมนายพีระพันธุ์ รวมทั้งคณะผู้ทำแผนมีมติเอกฉันท์มอบอำนาจการบริหาร จัดการกิจการประจำตามปกติทั่วไปให้นายชาญศิลป์ เป็นผู้มีอำนาจดังกล่าวเพียงผู้เดียว แต่ไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ทำไห้นายชาญศิลป์ มีอำนาจจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปได้แต่ผู้เดียวตลอดมา ซึ่งรวมทั้งอำนาจในการปรับโครงสร้างองค์กรและการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร และการออกประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการประจำวันตามปกติทั่วไปด้วย

แต่เนื่องจากนายพีระพันธุ์ได้รับการร้องเรียนจากพนักงานเป็นจำนวนมากในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหารที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะผู้ทำแผน เป็นเหตุให้นายพีระพันธุ์ บอกเลิกการมอบอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปในส่วนของตนไปยังนายชาญศิลป์เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 ทำให้นายชาญศิลป์หมดอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปตามลำพังเพียงคนเดียวทันที

และต่อมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 นายพีระพันธุ์ได้มอบอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปให้นายชาญศิลป์อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าการมอบอำนาจครั้งนี้ไม่รวมถึงการแต่งตั้ง และโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร พร้อมระบุอีกว่าไม่เคยลงนามหรือให้ความเห็นชอบกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหารใดๆ เลย ดังนั้น หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 เป็นต้นมา ต้องพิจารณาว่ามีคำสั่งหรือการสั่งการดังกล่าวมีผลบังคับถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

หมายความว่า หากนายชาญศิลป์จะมีคำสั่งอันมีผลเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับผู้บริหารเมื่อใดแล้ว ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ทำแผนทุกรายก่อนเป็นครั้งๆ ไป ไม่อาจสั่งการเองคนเดียว ดังนั้นการใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.64 เป็นไปตามมติเอกฉันท์ของคณะผู้ทำแผนหรือไม่ และเป็นการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

และ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 สหภาพฯ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขอให้วินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของนายชาญศิลป์ ว่าเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 หรือไม่ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการฯได้ตอบข้อหารือ ว่าเป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี ไม่ใช่การหารือเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน และให้หารือประเด็นดังกล่าวไปยังกรมบังคับคดี

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top