โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.คอมเซเว่น (COM7) เล็งผลงานปี 64 เติบโตสูงตลอดปี จากความต้องการสินค้าไอทียังเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม work from home ทั้งสินค้าค่าย Apple และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สูงต่อเนื่อง นอกจากนั้น COM7 ยังมีความเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกสินค้าไอที คาดจะได้ประโยชน์ไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 4G เป็น 5G
ที่น่าสนใจคือ การเริ่มต้นธุรกิจสินเชื่อ แม้ระยะสั้นเน้นแก้ปัญหากำลังซื้อให้กับลูกค้าที่ยังมีความต้องการซื้อสินค้าไอที ซึ่งกลายเป็นสินค้าจำเป็น และยังค่อนข้างระมัดระวัง คือ ปล่อยสินเชื่อเอง เฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ซื้อสินค้าใน Studio7 ส่วนกลุ่มลูกค้าอื่น จะจับมือพันธมิตรสินเชื่อ True Money คาดบวกต่อบริษัททั้งระยะสั้นที่จะช่วยเรื่องยอดขาย ขณะที่ระยะกลาง-ยาว น่าจะเริ่มคาดหวังธุรกิจสินเชื่อเข้ามาเป็น S-Curve ใหม่ได้ และมีความครบวงจรจากพันธมิตร CHAYO (ผู้บริหาร COM7 ถือหุ้น) ที่ช่วยปิดความเสี่ยง NPL จากความสามารถตามหนี้
หุ้น COM7 ปิดเช้าที่ 73.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท (+1.38%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าร่วง 0.44%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
เคทีบีเอสที | ซื้อ | 96.00 |
ดีบีเอส วิคเคอร์ส | ซื้อ | 84.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 83.00 |
ยูโอบี เคย์เฮียน | ซื้อ | 83.00 |
เอเชีย พลัส | ซื้อ | 80.00 |
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า COM7 แนวโน้มกำไรสดใส ทำไฮใหม่ต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าทั้ง Apple และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สูงต่อเนื่อง และความเป็นผู้นำในตลาดค้าปลีกสินค้าไอทีคาดจะได้ประโยชน์ไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 4G เป็น 5G สร้างความต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสินค้าเกี่ยวเนื่องต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จะช่วยหนุนผลประกอบการเติบโตเฉลี่ย (CAGR ปี 64-66) 23% ต่อปี สูงกว่าอุตสาหกรรมไอทีที่คาดโต 9% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน (Work from home) ด้วย รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าคาด โดย COM7 และบริษัทย่อย รายงานผลดำเนินงานงวดไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 565.61 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.47 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 287.88 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.24 บาท
ด้าน บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินผลการดำเนินงานในปี 65 ของ COM7 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 63-65 core EPS CAGR ที่ +37% จากความต้องการสินค้า IT โดยเฉพาะกลุ่ม work from home ที่จะยังอยู่ในระดับสูง ภายหลังที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่เดือน มี.ค.64 รวมทั้งโอกาส Synergy กับกิจการร่วมค้า NCAP ที่คาดว่า Synergy ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/64)
แนวโน้มรายได้ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง หนุนโดยการเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ที่ของขาด, การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า และการเริ่มเป็นผู้ให้สินเชื่อเพื่อซื้อสินค้า IT
ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการกำไรปกติปี 64-65 เพิ่มขึ้นปีละ +15% อยู่ที่ 2.18 พันล้านบาท (+51% YoY) และ 2.76 พันล้านบาท (+27% YoY) ตามลำดับ โดยเป็นผลของปรับเพิ่มรายได้ให้ขยายตัวที่ +27% YoY/+20% YoY จากเดิมปีละ +20% YoY เพื่อสะท้อนราคาขายเฉลี่ยที่จะเพิ่มขึ้น และยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มที่ไม่มีบัตรเครดิตผ่านโครงการ U-Fund และ True money และเพิ่ม Gross profit margin ขึ้นปีละ +17 bps ตามรายได้กลุ่ม non-mobile ที่มี GPM สูงเพิ่มขึ้นภายหลังการขายสินค้าที่ไม่ใช่ smartphone ในหน้าร้าน True shop
ส่วน บล.เอเชีย พลัส ระบุการเติบโตนับจากครึ่งหลังปี 64 และระยะกลาง ยังเห็นชัดเจน ที่น่าสนใจคือ การเริ่มต้นธุรกิจสินเชื่อ แม้ระยะสั้นเน้นที่แก้ปัญหากำลังซื้อให้กับลูกค้าที่ยังมีความต้องการซื้อสินค้าไอที ซึ่งกลายเป็นสินค้าจำเป็น และยังค่อนข้างระมัดระวัง คือ ปล่อยสินเชื่อเอง เฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ซื้อสินค้าใน Studio7 ส่วนกลุ่มลูกค้าอื่น จะจับมือพันธมิตรสินเชื่อ True Money คาดบวกต่อบริษัททั้งระยะสั้น ที่จะช่วยเรื่องยอดขาย ขณะที่ระยะกลาง-ยาว น่าจะเริ่มคาดหวังธุรกิจสินเชื่อเข้ามาเป็น S-Curve ใหม่ได้
พร้อมประเมินยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในครึ่งปีแรกคาดเติบโต 35-40% yoy จะเห็นการรักษาระดับสูงเกิน 20% ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง (H2/64) เป็น upside ต่อสมมติฐาน SSSG ปี 64 ที่ 6.3% ซึ่งฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นคาดจะช่วยประสิทธิภาพกำไรด้วย จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 64-65 ขึ้น 27.3% และ 26.9% ได้กำไรปี 64 เติบโต 48.1% และเพิ่มอีก 10.1% ในปี 65 ซึ่งยังไม่รวม upside มาร์จิ้นจากแนวโน้มการขายอุปกรณ์เสริมซึ่งให้มาร์จิ้นสูง และออนไลน์ซึ่งไม่มีต้นทุนสาขาเริ่มขยายตัวเร็วขึ้น และธุรกิจการเงิน ซึ่งบริษัทร่วม บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ที่อาจลงมาให้สินเชื่อเอง และมีความครบวงจรจากพันธมิตรบมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) (ผู้บริหาร COM7 ถือหุ้น) ที่ช่วยปิดความเสี่ยง NPL จากความสามารถตามหนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)
Tags: COM7, Consensus, คอมเซเว่น, ดีบีเอส วิคเคอร์ส, ทิสโก้, ยูโอบี เคย์เฮียน, สินค้าไอที, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, เคทีบีเอสที, เอเชีย พลัส