นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.36 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลขค้าปลีกสหรัฐออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
“บาททรงตัวในระดับเดียวกับช่วงท้ายตลาดเย็นวันศุกร์ ขณะที่ภูมิภาคแข็งค่าเนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาต่ำกว่าคาด”
นักบริหารเงิน กล่าว
ตลาดอาจรอดูตัวเลขสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ และการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25 – 31.40 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (14 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.35056% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.35927%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.44 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวัศุกร์ที่ระดับ 109.30/50 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2136 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวันศุกร์ระดับ 1.2100/2110 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.356 บาท/ดอลลาร์
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลง “ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564”
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 9,635 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,782 ราย และจากเรือนจำ 6,853 ราย มีผู้เสียชีวิต 25 ราย และรักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,397 ราย
- ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คาดตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2564 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 90 ล้านคน-ครั้ง หรือไม่น้อยกว่าปีที่แล้วที่มีจำนวน 90.52 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4.82 แสนล้านบาท อาจไม่ได้ตามเป้าหมาย
- หอการค้าไทยคาด มิ.ย.ประชาชนสนฉีดวัคซีนมาก ห่วงพ้น 40% จะแผ่วลง แนะอัดแคมเปญ ลุยสร้างความเชื่อมั่นประชาชน ทำคอนเทนท์ “ซิงเกิล แมสเสจ” ส.อ.ท.ย้ำหลายธุรกิจจำเป็นต้องฉีด แนะนายจ้างสร้างแรงจูงใจเงินเพิ่ม 1-2 พันบาท ให้โบนัสพนักงานที่ฉีด หนุนใช้พาสปอร์ตวัคซีนเพิ่มสิทธิผู้ฉีด “ท่องเที่ยว” แคมเปญ “V for Thailand” สทท.เสนอใช้สัญลักษณ์ “ไทยพร้อม” ผู้ได้รับวัคซีนแล้ว
- มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 82.8 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.4 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โดยคาดว่าจะแตะระดับ 4.6% ในปีนี้ และ 3.1% สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดฟิลาเดลเฟีย และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนพ.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย. และบันทึกการประชุมเฟด (27-28 เม.ย.)
- ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น (เบื้องต้น) เดือนพ.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนพ.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย. อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 64)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท