ธปท.มองฉีดวัคซีนเร็วขึ้นช่วยไทยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เปิดปท.เร็วขึ้น หนุน GDP ปี 64-65 โต

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 นี้มีความรุนแรงกว่าระลอก 1 และ 2 มาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิต แต่ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นยังไม่มากเท่ากับการระบาดในระลอกแรก เพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในระลอก 3 ด้วยการปิดกิจการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เข้มข้นเท่ากับระลอกแรก

นอกจากนี้ เศรษฐกิจในปัจจุบันของประเทศคู่ค้าสามารถเติบโตได้ดีขึ้น รัฐบาลแต่ละประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลดีต่อเนื่องมาถึงการส่งออกของไทยด้วย ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปในในระลอกนี้ ไม่ได้ลดลงไปมากเท่ากับระลอกแรก เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้นภาพรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดในระลอก 3 จึงไม่มากเท่ากับระลอกแรก

พร้อมมองว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับเริ่มมีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในระลอกนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะช้าลงกว่าเดิม ดังนั้นการได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้มากและเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ธปท. ได้จัดทำสมมติฐานการฉีดวัคซีนต้านโควิดที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงปี 64-65 ไว้ 3 กรณีดังนี้

กรณีแรก หากสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาสแรกปี 65 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 64 มีโอกาสขยายตัวได้ 2% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน ส่วนในปี 65 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 4.7% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคน

กรณีที่สอง หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้ 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 65 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 64 มีโอกาสขยายตัวได้ 1.5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 1 ล้านคน ส่วนในปี 65 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 2.8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ล้านคน

กรณีที่สาม หากจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.5 ล้านโดสภายในปีนี้ คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ปี 64 มีโอกาสขยายตัวได้ 1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ราว 8 แสนคน ส่วนในปี 65 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 1.1% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคน

น.ส.ชญาวดี ย้ำว่าสมมติฐานในกรณีดังกล่าว ยังไม่รวมมาตรการต่างๆ จากภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิดในปีนี้ และตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่การปรับประมาณการเศรษฐกิจจาก ธปท. ซึ่งการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี ได้ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าให้ขยายตัวสูงขึ้น และพยุงให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงไม่มากในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน การส่งออกของไทยที่แม้จะเริ่มขยายตัวดีขึ้น แต่ก็ยังส่งผลต่อเนื่องมาสู่ตลาดแรงงานในวงที่จำกัด เนื่องจากยังไม่เห็นการจ้างงานรายใหม่เพิ่มขึ้นมากในภาคการผลิต มีเพียงชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เป็นผลจากโครงสร้างของตลาดแรงงานที่การจ้างงานในภาคการส่งออกมีสัดส่วนไม่ได้สูงมาก และในระยะข้างหน้า คาดว่าการส่งออกจะส่งผลดีต่อการจ้างงานในภาคการผลิตได้บ้าง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top