นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการปรับแผนการฉีดวัคซีนในประเทศไทย โดยจะเปิดให้ประชาชนสามารถวอล์คอิน (Walk in) ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกับสถานการณ์
เนื่องจากการจัดส่งวัคซีนสามารถส่งมอบได้เร็วขึ้น ทำให้แผนการฉีดวัคซีนจึงต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ คือ ฉีดให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกทม. และต้องเตรียมแผนใหม่เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.นี้
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลว่าจะเป็นจุดใดบ้าง พื้นที่ใด ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยในต่างจังหวัดมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดเป็นผู้ควบคุมดูแล
ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้า จะเปิดให้คนทั่วไปอายุต่ำกว่า 60 ปี ลงทะเบียนผ่าน “หมอพร้อม” ได้ และนัดแบบเฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่ม เช่น สมาคมแท็กซี่ สมาคมมัคคุเทศก์ ชมรมร้านอาหาร ยื่นความจำนงไปที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/ กทม.
ก่อนหน้านี้ยังมีข้อกำจัดในเรื่องของวัคซีนที่ยังมาเป็นครั้งๆไป ซึ่งช่วงมี.ค.-เม.ย. กว่าจะฉีดได้เป็นล้านโดสต้องใช้เวลาเดือนกว่า แต่ในช่วงหลังการฉีดวัคซีนทำได้เร็วขึ้น เพราะวัคซีนเข้ามาเร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 ล้านโดส โดยยืนยัน ทางกระทรวงไม่มีปัญหาเรื่องศักยภาพในการฉีด สามารถฉีดได้ถึง 1- 3 แสนโดสต่อวัน และในอนาคตศักยภาพของโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐมีอยู่ 1,000 แห่ง แต่ละที่สามารถฉีดได้ 500 โดสต่อวัน จะสามารถฉีดได้รวมกันถึง 5 แสนโดสต่อวัน หรือประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน จึงมั่นใจว่า 100 ล้านโดสในช่วงสิ้นปีสามารถทำได้
ทั้งนี้ ในจุดที่มีการวอล์กอินจะมีการเตรียมวัคซีนไว้ทั้ง 2 แบบ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของหมอที่อยู่หน้างาน แต่จะคำนึงตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์และสาธาณสุขจะดีที่สุด
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการวอล์กอินจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ แก้ปัญหาโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกทม. เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่หลายล้านคน มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งคนเหล่านี้สามารถเข้ามาฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลหรือจุดที่มีการกำหนดให้ฉีดวัคซีนได้
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้ไปกำหนดจุดฉีดวัคซีน อาจจะเป็นในโรงพยาบาล หรือนอกโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับความสะดวกของจังหวัดนั้นๆ และให้ระบุว่า ในแต่ละวันจะสามารถวอล์กอินมาฉีดวัคซีนได้จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ เช่น ในจังหวัดมีการกำหนดให้วอล์กอินฉีดวัคซีนได้ 200 คน ประชาชนก็สามารถนำบัตรประชาชนไปแจ้งความจำนงค์ได้ แต่พอฉีดเสร็จจะมีระบบลงทะเบียน เพื่อทำการนัดหมายการฉีดครั้งต่อไป เพื่อทำให้การออกใบรับรองสะดวกรวดเร็วขึ้น และหากเกินโควต้าในวันนั้น เช่น เป็นคนที่ 201 จะมีการออกบัตรนัด เสมือนกับการจองคิวหน้างาน เพื่อความสะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ การวอล์กอินใช้เพียงบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ก็สามารถใช้บริการได้ ส่วนคนต่างชาติในหลักการก็พร้อมให้บริการ แต่ต้องมีหนังสือแสดงตัวตนว่าอยู่ในประเทศไทยจริงๆ เพื่อสามารถออกหนังสือรับรองให้ได้ ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจัดทำระบบในการอำนวยการฉีดวัคซีน
ส่วนข้อกังวลว่า การวอล์กอินอาจกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้นั้น นพ.โอภาส ชี้แจงว่า จุดฉีดวอล์กอินจะมีการกำหนดคนที่จะได้รับการฉีดจำนวนเท่าไหร่ และจะจัดในจุดที่ประชาชนสามารถมาใช้บริการได้สะดวก เช่น มีจุดจอดรถเพียงพอ และสถานที่กว้างขวาง และจะมีแนวปฏิบัติคือ ทุกคนต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เพื่อช่วยลดการแพร่เชื้อได้ และต้องมีการกำหนดจุดพักคอย ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการฉีดวัคซีนไม่ใช่เป็นแบบไดร์ฟทรูโดยเด็ดขาด
ในส่วนการจัดจุดฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทางกทม. กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดจะไปจุดวอล์กอินที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ ประมาณ 500 คนต่อวัน และอาจจะเปิดในช่วง 12.00-20.00 น.
นพ.โอภาส กล่าวถึง แนวทางหลังจากโมเดอร์น่า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วว่า รัฐบาลเคยติดต่อขอซื้อวัคซีนจากโมเดอร์น่าซึ่งได้รับการแจ้งว่า สามารถจัดส่งได้ในไตรมาส 4 แต่บริษัทเอกชนหรือผู้นำเข้าวัคซีน สามารถติดต่อนำเข้าระบบการฉีดวัคซีนในไทยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ขายวัคซีนด้วยว่า อยากจะขายหรือไม่ แต่หากขายผ่านทางรัฐ รัฐจะซื้อในระดับ 5-10 ล้านโดส ผู้ขายจึงอาจอยากจะขายให้กับทางรัฐมากกว่า
ส่วนวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์นั้น การเจรจาเป็นไปได้ด้วยดีและน่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองว่า สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี เป็นต้นไป
ส่วนคนที่ไม่สะดวกจองคิวผ่านทางระบบหมอพร้อม ก็สามารถจองคิวผ่านทางโรงพยาบาล หรือ ให้อสม.ไปสำรวจในพื้นที่
นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังได้กล่าวตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับหญิงให้นมบุตรว่า สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่สำหรับคนตั้งครรภ์ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากคณะผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขยังกังวลและยังไม่ได้ผลพิสูจน์มากพอ และกังวลว่าจะมีผลต่อเด็กในครรภ์
ส่วนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เช่น เข็มแรกเป็นซิโนแวก แล้วอยากเปลี่ยนยี่ห้อในเข็มที่สองเป็นแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์ไม่สามารถบอกว่าสามารถทำได้หรือไม่ แต่เคยมีกรณีเข็มแรกฉีดซิโนแวกแล้วมีอาการแพ้ เข็มที่สองจึงฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งมีอยู่หลายรายในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอาจจะสามารถฉีดข้ามยี่ห้อได้ แต่ในเวลานี้ยังเร็วเกินไปและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สามารถฉีดคนละยี่ห้อได้
ส่วนการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดให้ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ แต่ข้อมูลใหม่ๆ สามารถเว้นได้ถึง 16 สัปดาห์ ซึ่งแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอาจจะประกาศให้เข็มที่ 2 ฉีดได้นานขึ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นได้ดีกว่า 12 สัปดาห์
ส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อต้นเดือนพ.ค. หากจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอให้รออีก 1 เดือนถึงจะฉีดได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, จุดฉีดวัคซีน, ฉีดวัคซีน, วัคซีน, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์