บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 51 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,543 ล้านบาท) โดยมีรายได้จากการขายรวม 736 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,269 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 102 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,086 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 274 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,290 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,328 ล้านบาท) คิดเป็น 67%
ปัจจัยหลักมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของธุรกิจถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูงขึ้น รวมถึงการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท สะท้อนถึงความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตธุรกิจตามแผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่ ปี 64-68 การนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล หรือ Digital transformation เข้ามาผสมผสานเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม ทำให้ 3 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างผลประกอบการที่ดีในปี 64 แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกและวิกฤตโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
อนึ่ง BANPU แจ้งว่าไตรมาส 1/64 มีกำไรสุทธิ 1.54 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.303 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.71 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.333 บาท
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า “จากหลักการ Antifragile บ้านปูได้ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจใน 10 ประเทศ ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักเพื่อกระจายความเสี่ยง ในขณะเดียวกันเพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำที่หลากหลายในระดับนานาชาติ (International Versatile Energy Provider)
โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 64 ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี ฉบับใหม่สำหรับปี 64-68 ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ได้เร่งขยายพอร์ตพลังงานสะอาดและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือการลงทุนในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในญี่ปุ่นซึ่งใช้เทคโนโลยีผสมผสานในการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า (Integrated Gasification Combined Cycle: IGCC) เป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ เรายังปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สามารถรับมือกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับวิถีใหม่อย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของพนักงานใน 10 ประเทศ การบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) และการให้ความช่วยเหลือชุมชนในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19″
บ้านปูยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลและชุมชนในการรับมือและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศ อาทิ ในไทย มีการจัดตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย Covid-19 เพื่อกระจายความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ที่เน้นให้การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสาธารณสุขครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยอย่างเร่งด่วน โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เราได้ใช้งบประมาณในกองทุนไปแล้วประมาณ 140 ล้านบาท
ในจีน โรงไฟฟ้าเจิ้งติ้งสามารถจ่ายไฟฟ้าและความร้อนเพื่อรองรับการใช้งานในภารกิจป้องกันการระบาดของโควิด-19 และการบริโภคในครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในบริษัทย่อยหลายบริษัทในจีนก็ได้ให้การสนับสนุนชุมชนและภาครัฐเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
ส่วนบริษัทย่อยของบ้านปูในอินโดนีเซียก็สามารถรักษาระดับกำลังการผลิต และยังจัดหาเครื่องใช้ยังชีพและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข ขณะที่การดำเนินงานของเหมืองในออสเตรเลีย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีการปรับตัวและเรียนรู้จากประสบการณ์ทำให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในสหรัฐอเมริกา แม้ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนแต่ก็สามารถรักษากำลังการผลิตและยอดขายที่แข็งแกร่งซึ่งหนุนด้วยความต้องการที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งส่งผลบวกต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ด้านธุรกิจเหมือง ใน 3 ประเทศอันได้แก่ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และ จีน รายงานผลประกอบการที่ดี ซึ่งได้รับอานิสงค์จากราคาตลาดถ่านหินโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความต้องการหรืออุปสงค์ในการใช้ถ่านหินที่สูงขึ้นในขณะที่มีปริมาณการผลิตโดยรวมออกสู่ตลาดลดลง
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนมีการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ส่วนโรงไฟฟ้าเอชพีซีและโรงไฟฟ้าบีแอลซีพียังคงเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานดัชนีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ร้อยละ 83 และ 85 ตามลำดับ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนและญี่ปุ่น ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ และมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ Yamagata และ Yabuki ในขณะที่โครงการพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนามได้ก่อสร้างโดยสร้างฐานของกังหันลมแล้วเสร็จ และมีความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 57
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้บ้านปู เน็กซ์ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้แก่โครงการ ซัมเมอร์ ลาซาล (Summer Laselle) ซึ่งเป็นโครงการสำนักงานให้เช่ารูปแบบใหม่ในคอนเซปต์ออฟฟิศแคมปัสแห่งแรกในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการขยายการให้บริการของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมีเพิ่มเป็นจำนวน 100 คัน ในขณะที่ธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาเพิ่มเติมจากลูกค้ารายใหม่คือ สถาบัน Inter-University Research Organization ในกรุงโตเกียว จำนวน 10 กิกะวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 1 ปี
“ภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ ที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับทุกการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บ้านปูยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social and Governance) ซึ่งสามารถช่วยให้บริษัทฯ ฝ่าวิกฤตและปัญหาต่าง ๆ ไปได้ และเรายังคงมุ่งมั่นเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน (Banpu Transformation) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อสร้างอนาคตของพลังงานที่ยั่งยืนให้กับสังคมโลก”
นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)
Tags: BANPU, ก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจถ่านหิน, ธุรกิจผลิตพลังงาน, บ้านปู, ผลประกอบการ, พลังงานสะอาด, พลังงานไฟฟ้า, สมฤดี ชัยมงคล, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า