สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในอังกฤษระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่สร้างแอนติบอดี้ได้มากขึ้น 3.5 เท่าในกลุ่มผู้สูงอายุ หากเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ออกไปเป็น 12 สัปดาห์หลังจากการฉีดวัคซีนโดสแรก
ผลวิจัยดังกล่าวซึ่งเปิดเผยในวันนี้นั้นถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำข้อมูลเรื่องระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อได้รับวัคซีนของไฟเซอร์โดสที่ 2 หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ตามผลการทดลองทางคลินิก มาเปรียบเทียบโดยตรงกับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 หลังจากผ่านไป 12 สัปดาห์ตามคำแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษที่ต้องการให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการป้องกันจากเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
บริษัทไฟเซอร์และบริษัทบิออนเทคยืนยันว่า ไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนการเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ออกไป อย่างไรก็ดี ไฟเซอร์ระบุว่า อาจมีการนำข้อมูลด้านสาธารณสุขนอกห้องทดลองทางคลินิกมาร่วมพิจารณาเพิ่มเติม
นางเฮเลน แพร์รี่ ผู้ทำการวิจัยดังกล่าวระบุว่า “การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า ระดับภูมิคุ้มกันสูงสุดของร่างกายหลังได้รับวัคซีนของไฟเซอร์โดสที่ 2 นั้นมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ หากเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ออกไปเป็น 12 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนโดสแรก”
อังกฤษได้เริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ไปแล้วส่วนหนึ่งก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการฉีดโดสที่ 2 ซึ่งทำให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรกๆ นั้นได้รับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 แล้วหลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์
การวิจัยดังกล่าวซึ่งยังไม่ได้การตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกันนั้น มีการติดตามข้อมูลของผู้เข้าร่วมทดลอง 175 รายที่มีอายุ 80-99 ปี โดยพบว่าหากเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ออกไปเป็น 12 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนโดสแรก ระดับภูมิคุ้มกันสูงสุดของร่างกายจะเพิ่มขึ้นถึง 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสที่ 2 หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, Pfizer, บิออนเทค, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, เฮเลน แพร์รี่, แอนติบอดี้, โควิด-19, ไฟเซอร์