นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KEX) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นอย่างยาวนานและในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว KEX สามารถเพิ่มปริมาณการจัดส่งพัสดุด่วนได้สูงขึ้นถึง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการผลักดันการขายตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/64 KEX เดินหน้ายกระดับแพลตฟอร์มและระบบการจัดส่งพัสดุ เพื่อคุณภาพการบริการและประสิทธิภาพเครือข่ายของบริษัทฯ ที่เหนือกว่าผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศ
สำหรับปี 64 เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาด KEX ได้เดินหน้ากลยุทธ์การกำหนดราคาเชิงรุกที่เข้มข้นขึ้น เพื่อตอบสนองการเติบโตของตลาดการจัดส่งพัสดุราคาประหยัด และเป็นการขยายการให้บริการเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ KEX สามารถรุกเข้าสู่ตลาดการจัดส่งราคาประหยัดและลดต้นทุนได้ต่อไป
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส จะยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวเพื่อรองรับทุกสถานการณ์ รวมถึงพร้อมที่จะแสวงหาและไขว่คว้าโอกาสทางธุรกิจอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน นอกจากการรุกเข้าสู่ตลาดการจัดส่งราคาประหยัดเพื่อส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น KEX ยังได้ปริมาณการจัดส่งจากลูกค้าภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรักษาฐานปริมาณพัสดุในปี 2564 ได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KEX กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งยกระดับแพลตฟอร์มการจัดส่งพัสดุเพื่อรองรับการบริการที่หลากหลายครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น การบริการเข้ารับพัสดุแบบ Door-to-Door และบริการกลุ่มตลาดราคาประหยัด เป็นต้น รวมไปถึงปริมาณพัสดุที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากเครือข่ายที่มีอยู่ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยจุดให้บริการลูกค้า (customer touchpoints) และศูนย์กระจายพัสดุทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น เรายังคงเดินหน้าขยายเครือข่าย “Kerry Express Everywhere” อาทิ การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการกระจายธุรกิจเพื่อเข้าสู่ธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ KEX ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
KEX รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/64 สิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 มีรายได้จากการขายและบริการ 4,188 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 303 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/63 ที่มีรายได้ 4,814 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 373 ล้านบาท
โดยรายได้แบ่งเป็นการจัดส่งพัสดุแบบธุรกิจส่งถึงบุคคล (B2C) และการจัดส่งพัสดุแบบบุคคลส่งถึงบุคคล (C2C) เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยมีสัดส่วน 47.3% และ 50.8% ของรายได้จากการขายและบริการตามลำดับ โดยรายได้ที่ลดลงประมาณ 13% นั้น มีปัจจัยหลักได้แก่ การปรับราคาต่อพัสดุเชิงรุกและการเจาะเข้าสู่กลุ่มตลาดการจัดส่งราคาประหยัด
ทั้งนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบได้แก่ สถานการณ์โควิด- 19 ที่ยืดเยื้อยังคงส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ให้บริโภคมีความต้องการสั่งซื้อพัสดุที่มีมูลค่าและขนาดเล็กลง ประกอบกับมีการซื้อบริการเสริมน้อยลง นอกจากนี้ วันทำการในไตรมาส 1/64 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63
KEX ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดส่งพัสดุ ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยวางเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/64 บริษัทสามารถสร้างผลกำไรสุทธิอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเพิ่มอัตรา EBITDA (กำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้) เป็น 23.4% จาก 22.3% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสามารถรักษาฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง
โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีทรัพย์สินรวม 18,032 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอยู่ในปริมาณมาก โดยมีอัตราส่วนสภาพคล่องที่ 2.95 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 0.62 เท่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 64)
Tags: KEX, หุ้นไทย, อเล็กซ์ อึ้ง, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส