ซีอีโอ Ark Investment มั่นใจหุ้นเทคโนโลยียังน่าดึงดูด แต่กังวลราคาสินค้าโภคภัณฑ์จ่อทรุดตัว

นางเคธี วูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Ark Investment Management ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การที่หุ้นเติบโต (growth stocks) เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ได้ถูกเทขายนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 นั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าความแข็งแกร่งของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้สิ้นสุดลง

ขณะเดียวกันนางวูดคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง หลังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจได้สั่งซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้นสองหรือสามเท่าในช่วงเวลาที่บริษัทต่างๆ เริ่มเดินเครื่องการผลิตทั่วโลก

อย่างไรก็ดี นางวูดกล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะปรับฐานลงอย่างรุนแรง เมื่อประเทศทั่วโลกกลับมาเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

นอกจากนี้ นางวูดยังคาดการณ์ว่า ตลาดทั่วโลกอาจเผชิญภาวะเงินฝืดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี พร้อมกับคาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1.5% – 3% และคาดว่าราคาน้ำมันจะไม่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อได้ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลงอย่างหนักนับตั้งแต่ต้นปี 2564 และทำให้มีแรงซื้อส่งเข้าหนุนหุ้นคุณค่า (value stocks) ซึ่งเป็นหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นางวูดแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า ในขณะที่นักลงทุนได้หมุนเวียนการลงทุนเข้าสู่หุ้นคุณค่ากันอย่างคึกคักนั้น แต่หุ้นเติบโตก็ยังคงได้รับแรงดึงดูดเช่นกัน

“นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นภาวะฟองสบู่ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร แต่เราไม่เชื่อเช่นนั้น”

นางวูดกล่าว

ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงติดต่อกัน 2 วันทำการ โดยล่าสุดดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 473.66 จุด หรือ -1.36% เมื่อคืนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐได้กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มต่างๆเป็นวงกว้าง ตั้งแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไปจนถึงกลุ่มพลังงาน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลดังกล่าวมาจากการที่สหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และล่าสุดทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 8.12 ล้านตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค.2543

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top