นับตั้งแต่ปลายปี 63 บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) ได้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารครั้งใหญ่ ภายหลังจาก บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นำโดยแม่ทัพหญิงคนสำคัญ “หลุยส์ เตชะอุบล” ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม TRITN มุ่งมั่นกระจายการเติบโตเข้าสู่ธุรกิจอาหารด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ตั้งเป้าให้ GLOCON กลับมามีผลประกอบการเติบโตได้ดีอีกครั้งจากบริษัทที่มีผลขาดทุนสุทธิหลายปีต่อเนื่อง พร้อมกับตัวเลขขาดทุนสะสมกว่า 800 ล้านบาท
เป้าดันเข้าโหมดเทิร์นอะราวด์
นางสาวหลุยส์ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร GLOCON เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ 2 พันล้านบาทในปี 65 จากความคาดหวังแนวโน้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง มีความเป็นไปธุรกิจในเครือกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจร้านอาหาร A&W ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศรอบแรก ทำให้ร้าน A&W ที่กำลังจะเติบโตกลับมาได้ดีกลายเป็นชะลอตัว กระทบต่อภาพรวมของธุรกิจค่อนข้างมากทั้งรายได้และกำไร แม้ว่า A&W จะมีสัดส่วนรายได้เพียง 10% ของรายได้รวมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังมีปัจจัยกดดันจากโควิด-19 ต่อเนื่องถึงในปี 64 แต่บริษัทยังได้รับปัจจัยบวกมาจากธุรกิจอื่นๆที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน ประกอบด้วย ธุรกิจแพคเกจจิ้งและธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายอาหาร ซึ่งกลุ่มลูกค้าต่างๆเริ่มกลับมาสั่งออเดอร์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่กลับมาฟื้นตัว ทำให้บริษัทสามารถส่งออกสินค้าส่งมอบให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้แนวโน้มของรายได้ของธุรกิจแพคเกจจิ้ง และธุรกิจรับจ้างผลิตอาหารแช่แข็ง จะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมีโอกาสที่จะทำให้รายได้ในปี 64 เติบโตขึ้นสูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 1.5 พันล้านบาท
ลุ้นพลิกกำไรปี 65 หลังเปิดตัว Plant Based Food ไตรมาส 3/64
บริษัทเตรียมรุกธุรกิจใหม่ โดยจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากพืช หรือ Plant Based Food เน้นการทำตลาดและจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในโซนสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย เป็นหลัก เนื่องจากอาหารประเภท Plant Based ถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในชาติตะวันตก ประกอบกับมีขนาดตลาดที่ใหญ่ ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่ม Plant Based พร้อมทั้งจะรับจ้างผลิตอาหารประเภท Plant Based ให้กับลูกค้าอีกด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มอาหาร Plant Based ถือว่าเป็นสินค้าที่ให้มาร์จิ้นสูง คาดว่าจะสามารถเข้ามาช่วยให้บริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรในปี 65 พร้อมกับตั้งเป้าล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด และคาดหวังจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายใน 1-2 ปีนี้ด้วย
“โอกาสในการพลิกกลับมามีกำไรของบริษัทในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลกดดันผลการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจร้าน A&W ที่ยังขาดทุนอย่างมากมาต่อเนื่อง ทำให้ฉุดภาพรวมของบริษัทยังขาดทุน แต่อย่างไรก็ตามเราจะมีการปรับแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และยังมีธุรกิจหลักในส่วนของธุรกิจแพคเกจจิ้ง ธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน้ายอาหาร ซึ่งยังสามารถเข้ามาช่วยผลักดันผลการดำเนินงานในปี 64 ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน และหากโควิด-19 คลี่คลายลงชัดเจนก็มองว่าปีหน้าจะมีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรได้”
นางสาวหลุยส์ กล่าว
ต่อจิ๊กซอว์อาหารขอไลเซ่นส์โรงสกัดกัญชง
นางสาวหลุยส์ ยังเปิดเผยว่า บริษัทยังมีแนวทางขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชง เนื่องจากมองเห็นถึงโอกาสเติบโตระยะยาว ล่าสุดบริษัทเซ็นสัญญากับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อรับซื้อวัตถุดิบกัญชงจากเกษตรกรในเครือข่าย (Contract Farming) พร้อมกับได้ร่วมทำการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งบริษัทต้องการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ โดยได้แสดงเจตจำนงที่จะยื่นขอใบอนุญาตโรงสกัดสารกัญชงและการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นอาหาร แต่คงต้องรอความชัดเจนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนถึงจะสามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
“มองว่าธุรกิจกัญชงถือเป็นโอกาสใหม่ในการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารของกลุ่มบริษัท เพราะกัญชงมีคุณประโยชน์มากสามารถสกัดน้ำมันออกมาที่มีสารอาหารที่มีคุณภาพที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้ต่อยอดเป็นส่วนผสมในอาหารและเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น”
นางสาวหลุยส์ กล่าว
รับโควิด-19 ระบาดเป็นอุปสรรคกับธุรกิจร้านอาหาร
ด้านธุรกิจร้านอาหาร A&W ยอมรับว่ายังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ผลกระทบของโควิด-19 รอบนี้น้อยลงจากปีก่อน เนื่องจากไม่ได้มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ลูกค้าสามารถนั่งทานอาหารในร้านได้ตามปกติในหลายพื้นที่ ประกอบกับการที่บริษัทได้หันมาเพิ่มบริการเดลิเวอรี่ จึงช่วยช่วยพยุงยอดขายของร้าน A&W ได้บ้าง แม้ในปีนี้ยอมรับว่าร้าน A&W คงยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว แต่เชื่อว่าการฟื้นตัวชัดเจนจะอยู่ในช่วงปี 65 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัทมุ่งมาให้ความสำคัญกับการเติบโตของร้าน Kitchen Plus มากขึ้น เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่บริษัทตั้งขึ้นเอง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโฮมโปรกว่า 30-40 สาขา แม้ว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาต่อเนื่องเช่นเดียวกับร้าน A&W แต่บริษัทได้ปรับกลยุทธ์มาเน้นการให้บริการเดลิเวอรี่มากขึ้นด้วย เพื่อทำให้ยอดขายของร้านยังมีเข้ามาต่อเนื่อง
“การฟื้นตัวของร้าน A&W ยังคงต้องรอแนวโน้มของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงอย่างชัดเจนก่อน ปัจจุบันร้าน A&W มีสาขาทั้งหมด 24 สาขา ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังไม่มีแผนขยายสาขาใหม่ และหากจะขยายในอนาคตจะเป็นลักษณะการขยายสาขาที่ใช้เงินลงทุนที่ต่ำ เพื่อทำให้ธุรกิจร้าน A&W มีความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น”
นางสาวหลุยส์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 64)
Tags: GLOCON, TRITN, กัญชง, ร้านอาหาร, ร้านอาหาร A&W, หลุยส์ เตชะอุบล, หุ้นไทย, โกลบอล คอนซูเมอร์, ไทรทัน โฮลดิ้ง