นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึง “ไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่ต้องจับตาสูง จนถึงกลายเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง” ว่า โควิด ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาจนกลายเป็นที่เรียกว่าสายพันธุ์ ที่ต้องจับตามองด้วยความกังวลสูง (variant of high global concern) ไปจนถึงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่อง (high consequence) ล้วนแล้วแต่เกิดจากการระบาดที่รุนแรงแรงกว้างขวาง จนเกิดการวิวัฒน์ให้มีความเก่งกาจขึ้น (gain of function) ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่ถูกจัดจากองค์การอนามัยโลกให้ทั่วโลกจับตา และในอีกไม่ช้าไม่นาน ถ้าสถานการณ์คุมไม่ได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ก็จะเกิดมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก
ในส่วนของ “สายพันธุ์อินเดีย” ที่มีการตรวจพบมานานพอสมควรในประเทศไทย หลายรายด้วยกันแล้วในสถานกักตัว ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากหมอและนักวิทยาศาสตร์อินเดียและหลายกลุ่มในไวรัสสายพันธุ์นี้มานานพอสมควร ที่ว่าสามารถ
- จับลึก คือไถลลงไปจับกับหลอดลมส่วนลึกและถุงลม แทนที่จะเป็นโพรงจมูกและลำคอ
- จับแน่น ทำให้มีความสามารถในการติดเชื้อได้เก่งขึ้น และจากนั้นแพร่ได้ง่ายขึ้น
- หลีกหนี การมองเห็นการเฝ้าระวังตรวจตราของระบบป้องกันและภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน
ทั้งนี้ ยังหมายรวมไปถึงภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งแรกจากโควิดธรรมดา และเมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้ สามารถมองเห็นจับได้ แต่ไม่ยับยั้งไวรัส และกลับจับไวรัสไปส่งให้เซลล์ที่มีหน้าที่ป้องกันไวรัส โดยมีหน้าที่ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ แต่กลับปล่อยสารอักเสบขึ้นมาแทน เลยเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อและต่อทุกระบบในร่างกาย
“ถือเป็นบาป ที่ภูมิคุ้มกันไม่รู้จักปรับตัวพัฒนาขึ้นมาสู้กับของใหม่ (original antigenic sin: ที่ทราบกันมาตั้งแต่ปี 1960) และในลำดับต่อไป ถ้าไวรัสมีการปรับเปลี่ยนส่วนท่อนต่างๆ ที่ปกติออกแบบมาอยู่แล้วเพื่อก่อโรคให้มีความรุนแรง และกลับรุนแรงขึ้นไปอีก จนมีปัญหาในการรักษา และรวมไปกระทั่งถึงดื้อยาที่ใช้ได้ผลอยู่ในปัจจุบัน จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสูง”
ทั้งหมดนี้สามารถชนะได้ด้วยวัคซีน พร้อมกับมีวินัยทั้งทางบุคคลและทางสังคมอย่างเข้มข้น พยายามสงบการระบาดให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ ต้องเล็ดลอดเข้ามาไม่ช้าก็เร็ว และแพร่ระหว่างคนไทยสู่คนไทย แต่ทั้งหมดเพื่อเป็นการซื้อเวลา เพื่อรอวัคซีนพัฒนารุ่นที่สองต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, โควิด-19, โควิดกลายพันธุ์, โควิดสายพันธุ์บราซิล, โควิดสายพันธุ์อังกฤษ, โควิดสายพันธุ์อินเดีย, โควิดสายพันธุ์แอฟริกา