พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ซึ่งปัจจุบันมีหลายกลุ่มก้อน (cluster) ที่สำคัญ อาทิ ชุมชนแออัดในเขตคลองเตย ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง เขตดินแดง ปากคลองตลาด เขตพระนคร สี่แยกมหานาค เขตดุสิต สำเพ็ง เขตสัมพันธวงศ์ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค เป็นต้น
แต่มีหลาย cluster มีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมการระบาดได้ ได้แก่ บริษัทขายตรงตึกเอมไพร์ เขตสาทร ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ชุมชนบ้านขิง/The mall บางแค เขตบางแค สำหรับ cluster อื่น กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเฉพาะชุมชนแออัดในเขตคลองเตย ที่ประชุมได้ให้สำนักอนามัยประสานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และกองทัพ เพื่อเร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Swab) ในตลาดคลองเตย ซึ่งมีประชาชนพักอาศัยหรือประกอบอาชีพ ประมาณ 6,000-7,000 คน ทั้งนี้ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาล และให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แก่ผู้ที่ผล Swab ไม่พบเชื้อ
ส่วนการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ซึ่งหมุนเวียนไปตามชุมชนต่างๆ ในพื้นที่คลองเตย และการฉีดวัคซีนในพื้นที่เขตคลองเตย 3 จุดเดิม ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองเตย โลตัสพระราม 4 และโกดังการท่าเรือ ยังคงดำเนินการเช่นเดิม เพื่อเร่งค้นหาและแยกผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ที่ประชุมย้ำว่า การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้ประสานหอการค้าไทย จัดจุดบริการฉีดวัคซีนจำนวน 14 จุดนั้น ภายในสัปดาห์นี้ จะทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน 3 แห่ง ได้แก่ วันที่ 12 พ.ค. 64 บริเวณชั้น 3 sky Hall ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เขตจตุจักร วันที่ 13 พ.ค. 64 บริเวณสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน และวันที่ 14 พ.ค. 64 บริเวณชั้น 4 MCC HALL เดอะมอลล์ บางกะปิ
โดยผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยพิจารณาว่าเป็นกลุ่มอาชีพเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้แก่ พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง พนักงานขับแท็กซี่ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) พนักงานขับเรือ และครู เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้ประสานหน่วยงานต้นสังกัดของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด สำหรับประชาชนทั่วไปจะให้บริการฉีดวัคซีนในโอกาสต่อไปเมื่อกรุงเทพมหานครได้รับมีวัคซีนจำนวนมากพอ
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร ได้ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วทั้งสิ้น 335,450 โดส โดยเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 170,286 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวน 82,582 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรุงเทพมหานคร, คลัสเตอร์, โควิด-19, โสภณ พิสุทธิวงษ์