รายงานสรุปการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประจำเดือนเม.ย.ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า กรรมการ BOJ เล็งเห็นความจำเป็นในการขยายระยะเวลาในการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน เพื่อช่วยให้ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะเดียวกันมีกรรมการอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า BOJ ควรพิจารณาแนวทางที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ในการประชุมเมื่อวันที่ 26-27 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น BOJ คาดการณ์ว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้ก่อนที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. 2566 แม้ BOJ ได้ดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเชิงรุกมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
“การบรรลุเป้าหมายการสร้างเสถียรภาพของราคาผู้บริโภคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้ BOJ จึงควรดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด และการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีการบังคับใช้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวที่วางไว้” รายงานการประชุมระบุโดยอ้างคำพูดของกรรมการ BOJ
ในการประชุมวันดังกล่าว BOJ มีมติคงนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ลงสู่ระดับ 0.1% จากระดับ 0.5% โดย BOJ ยอมรับว่าอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในช่วงที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ
รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า กรรมการคนหนึ่งของ BOJ กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ BOJ จะต้องพิจาณาแนวทางการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างระมัดระวัง และควรดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับสาธารณชน เพื่อที่ประชาชนจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ BOJ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)
Tags: BOJ, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, เงินเฟ้อ, แบงก์ชาติญี่ปุ่น