หนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์รายงานว่า ผลการศึกษาการใช้งานจริง (Real-World Study) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขของกาตาร์พบว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์และบิออนเทคนั้น สามารถป้องกันการเกิดอาการรุนแรงในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ได้ดี แต่ยังมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
ผลวิจัยที่ยื่นต่อวารสารการแพทยนิวอิงแลนด์ (NEJM) ได้รับการเผยแพร่ออกมาในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามทำความเข้าใจว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้มากเท่าใด เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่นั้นเกิดขึ้นหลังจากมีการพัฒนาวัคซีนแล้ว โดยนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวในขณะที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ B.1.1.7 ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ และ B.1.351 ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ กำลังมีการแพร่ระบาดมากขึ้นในกาตาร์
ผลวิจัยที่จัดทำขึ้นระหว่างช่วงที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่กำลังแพร่ระบาดระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์และบิออนเทคมีประสิทธิภาพมากถึง 97.4% ในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ดี วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพเพียง 75% ในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ B.1.351 หรือลดลงราว 20% จากตัวเลขในผลวิจัยที่ไม่ได้เจาะจงหาข้อมูลของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าวโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ การทดลองทางการแพทย์ที่จัดทำขึ้นก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นั้นพบว่า วัคซีนของไฟเซอร์และบิออนเทคมีประสิทธิภาพถึง 95% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้ข้อมูลจากการใช้งานจริงในอิสราเอลช่วยสนับสนุน ซึ่งระบุว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 92% ในการป้องการกันการติดเชื้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, Pfizer, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์อังกฤษ, โควิดสายพันธุ์แอฟริกา, ไฟเซอร์