นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเป็นวัคซีนหลักของไทย ซึ่งผลิตในไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งได้เริ่มผลิตตามแผนตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.63 และจะเริ่มส่งให้ไทยได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.64 ผู้ผลิตได้แจ้งว่า วัคซีนได้มาตรฐานผ่านการตรวจสอบจากต่างประเทศ ผลิตได้ตามกำหนดและได้มาตรฐานในระดับสากล
“ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์วัคซีน ขอให้ย้อนกลับไปดูที่กระบวนการพิจารณานำเข้ามาให้บริการนั้น ผ่านการคิดวิเคราะห์คำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของวัคซีน ความปลอดภัย ซึ่งมีการเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้วัคซีน นอกจากนี้ ต้องผ่านการตรวจสอบเห็นชอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงาน อย. การนำเข้ามา ตรวจสอบมาแล้วหลายขั้นตอน ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในวัคซีน รัฐได้จัดหาวัคซีนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนเรื่องการเกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น มีเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่รัฐพร้อมจะเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือจากประชาชนหลังฉีดวัคซีนให้เฝ้าดูอาการประมาณ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน ขอย้ำว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน 1.เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ 2.ป้องกันไม่ให้อาการหนัก 3.ป้องกันไม่ให้ตาย
“เราต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเชื่อมั่นในวัคซีน สิ่งที่สำคัญของวัคซีนคือช่วยให้ป่วยแล้วอาการไม่หนัก ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อน้อยลงไปด้วย” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำการหารือกับไฟเซอร์ โดยไฟเซอร์ได้แจ้งว่าวัคซีนไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ แล้ว และวัคซีนยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งในไทยยังไม่มีตัวไหนครอบคลุมในกลุ่มอายุนี้ รัฐบาลจึงต้องนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ ทางไฟเซอร์จะพยายามจัดส่งให้ได้ หากทางเรารับเงื่อนไขในการจัดซื้อ เงื่อนไขทางด้านกฎหมาย เงื่อนไขด้านการชำระเงิน และเงื่อนไขในการจัดส่ง เมื่อคู่เจรจายอมรับเงื่อนไขของกันและกัน ไฟเซอร์สามารถส่งให้ไทยได้ไม่เกิน 20 ล้านโดส ภายในครึ่งปีหลัง
ส่วนการขอขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ภาครัฐเปิดกว้าง ขอให้เอกชนหรือผู้ผลิตนำเอกสารมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งภาครัฐไม่มีการถ่วงเวลาแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 64)
Tags: COVID-19, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19