นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดเคแทม ไชน่า บอนด์ ฟันด์ (KT-CHINABOND) จะเสนอขายครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 11-19 พฤษภาคม 2564 นี้ ผู้ที่สนใจสามารถเริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำที่เพียงแค่ 1,000 บาท เท่านั้น
ตลาดตราสารหนี้จีนในปัจจุบันถือเป็นตลาดสินทรัพย์ใหญ่ที่ทวีความน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากความต้องการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ของจีนในรูปสกุลเงินหยวนมีแนวโน้มสูงกว่าตราสารหนี้ในตลาดที่พัฒนาแล้ว จึงเห็นว่าในสภาวะการณ์ตลาดตราสารหนี้และทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ณ ปัจจุบัน น่าจะเป็นโอกาสที่จะเสนอทางเลือกการลงทุนเพื่อตอบโจทย์ให้กับนักลงทุน โดยกองทุนนี้ยังนับเป็นกองทุนแรกในประเทศไทยที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้จีนโดยเฉพาะอีกด้วย
กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า บอนด์ ฟันด์ (KT-CHINABOND) เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมฟีดเดอร์ (Feeder Fund) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหลัก คือ กองทุน BGF China Bond Fund เพียงกองเดียว ในชนิดหน่วยลงทุน (share class) “D2” ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยกองทุนมีการกระจายไปในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Investment Grade และ Non Investment Grade และลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้จีนทั้งในประเทศและนอกประเทศ จึงทำให้การบริหารมีความยืดหยุ่น และช่วยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองทุน BGF China Bond Fund (กองทุนหลัก) จดทะเบียนและอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศลักเซมเบิร์ก ภายใต้การกำกับดูแลของ Commission de Surveillance du Secteur Financier (CSSF) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ UCITS (Undertakings for Collective Investment in Transferable Securities) ซึ่งบริหารและจัดการโดยผู้จัดการมืออาชีพอย่าง BlackRock (Luxembourg) S.A. (Management Company) มีวัตถุประสงค์การลงทุนที่เน้นลงทุนอย่างน้อย 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในหลักทรัพย์ที่โอนสิทธิได้ ประเภทตราสารหนี้ในสกุลหยวน (RMB dominated fixed income) หรือตราสารสกุลเงินท้องถิ่นที่ไม่ใช่ประเทศจีน (Non-RMB denominated securities) ที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก
ทั้งนี้ กองทุนสามารถลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non – investment grade) ไม่เกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมด และในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Distressed Securities) ไม่เกิน 10% ของสินทรัพย์ทั้งหมด โดยมีการบริหารด้วยสไตล์ยืดหยุ่น (Go-Anywhere Approach) สามารถปรับเปลี่ยนการจัดสรรสินทรัพย์ระหว่างในและนอกประเทศจีนให้สอดคล้องกับพลวัตของตลาด (Dynamic Asset Allocation) ที่เกิดขึ้น เพื่อเปิดรับโอกาสจากตลาดตราสารหนี้จีนอันกว้างใหญ่และกำลังดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนทั่วโลกซึ่งแสวงหายีลด์ที่สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพได้อีกด้วย
นางชวินดา กล่าวเสริมว่า ตราสารหนี้จีน ถือเป็นแหล่งในการสร้างผลตอบแทนที่สูงและน่าดึงดูดอย่างมากในปัจจุบัน KTAM จึงมองเห็นโอกาสในตลาดตราสารหนี้ของประเทศจีน เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของสกุลเงินหยวน ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบการเงินโลกอย่างมากในอนาคต ทำให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ในรูปแบบสกุลเงินหยวนโดยผ่านการลงทุนในตราสารหนี้นั้นกลายเป็นเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งอัตราการผิดนัดชำระหนี้ ของตราสารหนี้จีน อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างภูมิภาคหลักอื่นๆ และผลตอบแทนส่วนใหญ่ของตราสารหนี้ทั่วโลกที่จะสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่า 2.5% นั้นส่วนมากจะอยู่ในตลาดจีนเป็นส่วนใหญ่
ในขณะเดียวกัน การที่ตราสารหนี้สกุลเงินหยวนของจีน มีค่าความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ของภูมิภาคอื่นๆ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจนนั้น ทำให้มีความน่าสนใจในแง่มุมของการช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 64)
Tags: IPO, KT-CHINABOND, KTAM, กรุงไทย, กองทุนรวม, กองทุนเปิด, กองทุนเปิดใหม่, ชวินดา หาญรัตนกูล, ตราสารหนี้, สกุลเงินหยวน