นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการเบิกจ่ายและแผนการใช้งบประมาณมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานเงินกู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วงเงิน 45,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการและการเบิกจ่ายแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุข (แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1) ณ ข้อมูลวันที่ 5 พ.ค. 2564 จำนวน 42 โครงการ วงเงินอนุมัติรวมทั้งสิ้น 25,825.8796 ล้านบาท และจากข้อมูลของรายงาน MIS ของกรมบัญชีกลางพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 7,102.6471 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 27.50%
ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำ เป็นผลจากหน่วยงานรับผิดชอบโครงการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ เครื่องฉายรังสี ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค ก่อสร้างและปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางแพทย์ อาทิ ห้องความดันลบ (Negative pressure) cohort ward ห้องทันตกรรม
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของแผนงาน/โครงการด้านสาธารณสุขต่างๆ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มโครงการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 7,102.6470 ล้านบาท จากวงเงินอนุมัติ 12,976.3106 ล้านบาท เช่น การจ่ายค่าตอบแทน/เสี่ยงภัยให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2563 – มีนาคม 2564 สำหรับภารกิจเพิ่มเติมในช่วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 การเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการ โดยกรมควบคุมโรค การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การสนับสนุนครุภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจและการปรับปรุงห้องความดันลบแก่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
- กลุ่มโครงการที่ยังไม่ถึงงวดของการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 1,575.4590 ล้านบาท ได้แก่ การจ่ายค่าค่าตอบแทน/เสี่ยงภัยให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 สำหรับภารกิจเพิ่มเติมในช่วยสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019
- กลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 11,094.9465 ล้านบาท เช่น การสนับสนุนด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์/การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างในสถานพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เกี่ยวกับการวิจัย/พัฒนาน้ำยาเพื่อการตรวจโรค การพัฒนาระบบสื่อสารสั่งการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- กลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดโครงการ จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 179.1635 ล้านบาท อาทิ โครงการจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์/โครงการปรับปรุงห้องผู้ป่วย ของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
รองเลขาธิการ สศช. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 3.55 แสนล้าน อนุมัติ 1.387 แสนล้าน แต่กลับเบิกจ่ายไปเพียง 7.06 หมื่นล้านบาทนั้น และจากข้อมูลปัจจุบัน (เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564) มีโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานที่ 3) ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ แล้ว 232 โครงการ วงเงินรวม 138,181.4047 ล้านบาท (คงเหลือกรอบวงเงินกู้ประมาณ 216,818.5953 ล้านบาท) เบิกจ่ายแล้ว 110 โครงการ วงเงินรวม 69,117.4811ล้านบาท คิดเป็น 49.15%
ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการเบิกจ่ายต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินการตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุและครุภัณฑ์ และความจำเป็นที่ต้องชะลอกิจกรรมที่ต้องลงพื้นที่และฝึกอบรม อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ของหน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำกว่า 10% จำนวน 141 โครงการ (จาก 209 โครงการ) พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบทั้ง 209 โครงการ เร่งดำเนินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ โดยเร็ว โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หากหน่วยงานไม่สามารถลงนามผูกพันสัญญาในกิจกรรม/โครงการที่ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่มีแผนการใช้จ่ายในส่วนงบดำเนินงานที่ชัดเจนภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 เห็นควรให้ยุติการดำเนินโครงการและรายงานเงินกู้เหลือจ่ายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทราบ พร้อมทั้งส่งคืนเงินกู้เหลือจ่ายตามขั้นตอนของข้อ 19 และข้อ 20 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป
ขณะนี้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการจังหวัดที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ได้ขอยกเลิกโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 แล้ว รวม 5 จังหวัด 11 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 64.4819 ล้านบาท และขณะนี้กรมการจัดหางาน ซึ่งรับผิดชอบโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน กรอบวงเงิน 19,462.0017 ล้านบาท อยู่ระหว่างการเสนอขอปรับลดเป้าหมายจำนวนการจ้างงานและปรับลดวงเงินของโครงการ ซึ่ง สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ ให้กำกับและติดตามให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการตามขั้นตอนของระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ จากการพิจารณารายละเอียดของแผนงาน/โครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ จำนวน 283 โครงการ พบว่า มีพื้นที่ดำเนินโครงการกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ ได้มีการพัฒนาแอบพลิเคชั่นเพื่อรองรับการตรวจสอบและยืนยันตัวตน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบมุ่งเป้า ทำให้การใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เป็นไปอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งจะช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่คนไทย เพื่อรองรับการปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคตด้วย
นายวันฉัตร ยังได้ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดใน 2 ระลอกที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่ในระลอก 3 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม กลับมีแผนจะใช้งบประมาณเพียง 2.355 แสนล้านบาทว่า สศช. ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ในการเร่งพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่เหมาะสมเพิ่มเติม จากมาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ตามที่ สศช. เสนอ ประกอบด้วย มาตรการ 2 ระยะ ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนธันวาคม 2564
- โดยมาตรการระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2564 ประกอบด้วย มาตรการการเงิน อาทิ มาตรการ สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 มาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 และมาตรการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมประมาณ 43 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท
- ส่วนมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการระยะที่ 2 จะเป็นการดำเนินโครงการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถมีโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564) คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอแล้ว จำนวน 283 โครงการ รวมกรอบวงเงินกู้ 762,902.4958 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ 237,097.5042 ล้านบาท ซึ่งยังพอเพียงสำหรับการดำเนินการตามมาตรการที่เสนอไปแล้ว
รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ขณะนี้ สศช.ได้ร่วมกันหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รองรับสำหรับในกรณีที่รัฐบาลได้อนุมัติแผนงาน/โครงการใช้จ่ายตามพระราชกำหนดฯ เต็มจำนวนกรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดฯ คือ จำนวน 1 ล้านล้านบาท ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งนี้ หากได้ข้อยุติแล้วจะเร่งดำเนินการเสนอเรื่องดังกล่าวให้แก่คณะรัฐมนตรีต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 64)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, มาตรการเยียวยา, วันฉัตร สุวรรณกิตติ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สศช., สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, อุปกรณ์ทางการแพทย์, เบิกจ่ายงบ